กรมอนามัยลงพื้นที่ร้านอาหารโซนสีแดงเข้มย้ำมาตรการป้องกันโควิด-19 พร้อมแนะแนวทางการจัดพื้นที่ให้นั่งกินในร้านอาหารได้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดการแออัด
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลัง ลงพื้นที่เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในร้านอาหารและแนวทางการจัดพื้นที่ให้นั่งกินในร้านได้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ณ ครัวริมน้ำท้ายเกาะ จังหวัดปทุมธานี ว่า จากมาตรการผ่อนคลายของศูนย์บริหารสถานการณ์ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสีแดงเข้ม โดยจำกัดจำนวนคนนั่งได้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่นั่งปกติ ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนบางรายยังมีความสงสัยต่อมาตรการดังกล่าว
สำหรับ วัตถุประสงค์หลักในการกำหนดมาตรการเพื่อเป็นการลดความแออัด และลดความเสี่ยงในการติดหรือแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 โดยให้เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร จึงต้องจำกัดจำนวนของผู้ใช้บริการให้มีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงว่า หากภายในร้านมีที่นั่งสามารถรองรับลูกค้าได้ 100 คน ก็จะจำกัดจำนวนการให้บริการได้เพียง 25 คน และแต่ละคนนั่งกินได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมาก ขอให้โทรสอบถามหรือหาข้อมูลจากร้านอาหารว่าเพียงพอต่อการให้บริการในขณะนั้นหรือไม่ และถ้าไม่สามารถรองรับการให้บริการได้แนะนำให้ซื้อกลับไปกินที่บ้าน หรือใช้บริการเดลิเวอรีแทน แต่หากสมาชิกในครอบครัวเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือหญิงตั้งครรภ์ ควรเลี่ยงการออกมากินข้าว นอกบ้านในสถานการณ์ช่วงนี้
“กรมอนามัยขอเน้นย้ำให้สถานประกอบกิจการร้านอาหารยังคงต้องคุมเข้มการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน โควิด-19 อย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1. เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตามมาตราการป้องกันโควิด-19 2. คัดกรองพนักงานให้บริการ หรือพนักงานขนส่งสินค้าอย่างจริงจังโดยใช้ระบบ Thai Stop COVID Plus และ ไทยเซฟไทย 3.มีระบบติดตามอาการป่วยและพฤติกรรมของพนักงาน โดยดำเนินการเป็นประจำทุกวัน และ 4.มีการจัดทำ Timeline ของพนักงานให้บริการและพนักงานจัดส่งสินค้าในแต่ละวัน เพื่อควบคุมวงระบาดได้ในระยะสั้น และทันท่วงที
ทั้งนี้ จากข้อมูล Thai stop COVID Plus พบว่ามีร้านอาหารลงทะเบียนและประเมินตนเองแล้ว จำนวน 20,959 ร้าน โดนผ่านการประเมิน 17,825 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 85 และยังประเมินไม่ผ่าน 3,134 ร้าน ซึ่งมาตรการ 3 ลำดับแรกที่ทำได้น้อยสุดคือ 1. การลงทะเบียน 2. มาตรการคัดกรอง และ 3. การใช้อุปกรณ์หยิบ/ตักอาหาร จึงขอความร่วมมือให้ร้านอาหารที่ยังไม่ประเมิน หรือประเมินไม่ผ่าน ดำเนินการในระบบและปฏิบัติตามคำแนะนำตามมาตรการร้านอาหารต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว