สสส.-กรมสุขภาพจิต ห่วงคนทำงานเครียดจัดแนะวิธีจัดการความเครียด สังเกตตัวเอง-คุยกับคนรอบข้าง-ปรึกษานักจิตวิทยา
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในครั้งนี้ กระทบวงกว้างมากกว่าทุกครั้ง บริษัทและองค์กรจำนวนมากใช้ระบบให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน (Work from home : WFH) แต่มีพนักงานกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่สามารถใช้ระบบ WFH ได้ เช่น พนักงานประจำขนส่งสาธารณะ พนักงานส่งของ รวมถึงพ่อค้าแม่ค้า มีโอกาสเสี่ยงติดโควิด-19 สูง ไม่ต่างจาก บุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เกิดความเครียดจากความวิตกกังวลเมื่อต้องเจอคนจำนวนมาก จนเกิดเป็นความเครียดสะสม
นายชาติวุฒิ กล่าวว่า ความเครียดเป็นปัญหาที่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ สสส. จึงเร่งยกระดับการสร้างเสริมสุขภาพจิตคนไทย ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่าย โดยพัฒนานวัตกรรมกิจกรรมออนไลน์การดูแลจิตใจในช่วงโควิด-19 ที่ตอบโจทย์ความต้องการและในสถานการณ์วิกฤติ ช่วยฝึกจิตพื้นฐานในกิจวัตรประจำวัน เรียนรู้วิธีการจัดสรรเวลาการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัว สร้างสมดุลทางอารมณ์ ลดอาการเครียด เปลี่ยนความตระหนกเป็นการสร้างความตระหนัก ใช้เวลาพูดคุยและรับฟังกับคนในบ้าน และทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวอย่างสนุกและผ่อนคลายมากขึ้น ให้ครอบครัวเป็นที่พึ่งพิงทางความรู้สึก ให้คำปรึกษาเพื่อจัดการกับปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับคนในบ้าน โดยใช้เวลาเพียง 20-30 นาทีต่อวัน จัดทำในรูปแบบคลิปวิดีโอ 8 ตอน เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “บ้าน-พลัง-ใจ” www.facebook.com/Baanpalangjai นอกจากนี้ ยังได้พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือฟื้นฟูจิตใจคนทำงานที่เหมาะสำหรับทุกอาชีพ โดยอยู่ในระหว่างขั้นตอนการทดสอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้
ด้าน ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต และที่ปรึกษาโครงการพัฒนาสื่อสังคมออนไลน์ ในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อตอบสนอง COVID-19 สสส. กล่าวว่า อาการเครียดสังเกตได้ 3 ลักษณะ คือ 1.อารมณ์ เกิดความวิตก กังวล กลัว ระแวง โกรธ 2.ความคิด ฟุ้งซ่าน ผิดเพี้ยน คิดแก้ปัญหาง่ายๆ ไม่ออก และ 3.พฤติกรรม ใช้ความรุนแรง พูดจาก้าวร้าว ทำลายข้าวของ หรือถึงขั้นทำร้ายตนเองและคนอื่น ซึ่งแต่ละคนอาการจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีอาการลักษณะเดียว บางคนอาจมีอาการครบทั้ง 3 ลักษณะ
“ตัวเราเองจะเป็นคนที่รู้จักตัวเองดีที่สุด เพราะฉะนั้นต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ความคิด และพฤติกรรมตัวเอง หากพบว่าตนเองมีความเครียด สิ่งที่ควรทำ คือ 1.วิเคราะห์ตัวเอง หาที่มาของความเครียด เช่น กลัวติดโควิด-19 อาจเพราะไม่รู้วิธีลดความเสี่ยง ให้ดูข่าวสารแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข หรือ สสส. รวมทั้งเปิดรับข่าวสารอย่างพอดี ไม่มากจนเกิดความเครียด 2.พูดคุยกับคนใกล้ตัว หรือหากำลังใจจากครอบครัว หากคนรอบข้างบอกถึงอาการของเราที่เปลี่ยนไปก็ควรจะรับฟัง และ 3.ปรึกษานักจิตวิทยาหรือผู้ให้คำปรึกษา ผ่านช่องทางโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 แอปพลิเคชั่นไลน์ “คุยกัน” @Khuikun และแอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว