THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

13 พฤษภาคม 2564 : 14:00 น.

กรมราชทัณฑ์แจงยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19ในเรือนจำนับจากเริ่มระบาดเม.ย.2,833 รายย้ำ' รุ้ง-ปนัสยา'ไม่ได้ติดโควิดจากข้างใน ส่วนผลตรวจ 'ไมค์ จาดนอก'ติดเชื้อโควิดส่งตัวรักษาแล้ว

เมื่อวันที่ 13พ.ค.64 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข รักษาราชการแทนผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน

นายอายุตม์ เปิดเผยว่า ยอดผู้ติดเชื้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พ.ค.64) พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,794 ราย ทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 ราย ซึ่งเป็นยอดผู้ติดเชื้อรวมตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระรอกใหม่ในเดือน เม.ย. เป็นต้นมา และผู้ติดเชื้อทั้งหมด ได้รายงานไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำจะดำเนินการย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายในทันที และจะมีการแจ้งไปยังญาติผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ต้องขังว่าต้องการแจ้งญาติหรือไม่ พร้อมทั้งเร่งขยายผลการสอบสวนโรคจากผู้ติดเชื้อดังกล่าวไปยังผู้ต้องขังที่อยู่ในระยะพื้นที่รับเชื้อทุกราย โดยจะตรวจซ้ำยืนยันภายใน 7 วัน และ 14 วัน และในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือเป็นกลุ่มสีเขียว เรือนจำใดที่มีจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมากสามารถขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เรือนจำภายใต้ความเห็นชอบของฝ่ายปกครองพื้นที่สาธารณสุขจังหวัด โดยจะต้องจัดเตรียมบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ให้พร้อม

นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว คือ 1. Bubble and Seal เรือนจำที่มีการระบาดใหญ่จะลดการรับตัวผู้ต้องขังรายใหม่ลง โดยส่งเรื่องพิจารณาให้ศาลทราบและพิจารณาหนทางต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้ รวมถึงการไต่สวนทางระบบ Conference เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผู้ต้องขังไปศาล 2. คัดกรองรายใหม่ก่อนเข้าเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขังเข้าใหม่ ออกศาล หรือกลับจากโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และเร่งตรวจหาเชื้อโดยเร็วที่สุด และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะจำหน่ายจากแดนกักควบคุมโรคไปยังแดนทั่วไป และ 3. เจ้าหน้าที่เรือนจำทุกแห่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้กำชับให้อยู่ในพื้นที่บ้านพักลดการสัมผัสกับครอบครัว และต้องเข้ารับตรวจ Swab ค้นหาการติดเชื้อที่อาจรับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวโดยวิธี RT- PCR ทุก 14 วัน

ด้าน นายวีระกิตติ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในการแพร่ระบาดครั้งนี้ คือเรื่องของสายพันธุ์ที่มีความไวต่อการติดเชื้อได้สูง แสดงอาการช้า และมีภาวะแทรกซ้อนอันตราย ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ที่กรมราชทัณฑ์ต้องเผชิญ อีกทั้งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อาจจะมีบุคลากรเฉพาะด้านที่ไม่เพียงพอกับการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งได้มีการเร่งจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือเพิ่มเติมได้แก่ เวชภัณฑ์ ยาต้านไวรัส Favipiravir ที่ยังอยู่ในระหว่างการขอรับการอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ เช่น โรงเรียนแพทย์ต่างๆ องค์การเภสัชกรรม, ยากลุ่มพิเศษอยู่นอกบัญชียาหลักซึ่งมีราคาสูง (High cost) อยู่ในระหว่างขออนุมัติการจัดซื้อจากกรมราชทัณฑ์, อุปกรณ์เครื่องมือ เช่น เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) พร้อมระบบ High flow oxygen จำนวนอย่างน้อย 5 -15 เครื่อง, วัสดุในการตรวจคัดกรองเชื้อ เช่น ชุด PPE ชุด Rapid test สำหรับตรวจ Antigen และ Antibody, พัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เช่น พัดลม (อาจเป็นพัดลมไอน้ำถ้ามีการบุพลาสติกใสผนังลูกกรงห้อง) โทรทัศน์ เพื่อสร้างความสงบใจในโอกาสที่เจ็บป่วยแล้วมากักตัวอยู่ร่วมกันจำนวนมาก รวมถึงระบบไฟฟ้า และประปา น้ำยาทำความสะอาด ของใช้อื่น ๆ และระบบการกำจัดขยะติดเชื้อที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการจัดหาเพื่อเตรียมความพร้อม

นายวีระกิตติ์ กล่าวต่อว่า ด้วยการคัดกรองเชิงรุกแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์รถพระราชทาน วิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ (PCR) มาสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ ทำให้สามารถแยกกลุ่มเป้าหมายที่ติดเชื้อและกลุ่มที่ยังไม่ติดเชื้อแยกจากกันได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นประโยชน์ในเชิงระบาดวิทยาในการควบคุมโรค รวมถึงการ X-ray ปอดทุกรายโดยรถพระราชทานจะทำให้ค้นหาผู้ป่วยรายที่มีภาวะแทรกซ้อนปอดอักเสบได้รวดเร็ว นำไปสู่การเริ่มยาแบบก้าวหน้าตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งจะลดผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และลดอัตราการเสียชีวิต โดยแผนดำเนินการหลังจากนี้ จะเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยระดับสีแดง อาการหนัก โดยจะติดตั้งระบบ High Flow Oxygen และเครื่อง Ventilator ประมาณ 5 – 10 เตียง เพื่อรองรับไว้ และสำรองยาที่ใช้รักษาให้เพียงพอตลอด รวมถึงเตรียมเสนอให้มีการฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขังในรายที่ไม่ติดเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทาน โดยเริ่มต้นในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว หรือค่า BMI สูง จนครอบคลุมผู้ต้องขังทุกรายในที่สุด ซึ่งเรายึดหลักความเท่าเทียมในด้านการรักษาพยาบาล แม้จะอยู่ในสถานะผู้ต้องขังก็ตาม โดยเรียกการบริหารสถานการณ์ครั้งนี้ว่า “ลาดยาวโมเดล”

“ในส่วนของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ที่ได้ออกมาเปิดเผยว่าตนติดเชื้อโควิด -19 กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกในผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงกลางแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงได้ตรวจหาเชื้อกับ น.ส.ปนัสยา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 เม.ย. โดยผลตรวจออกมาเป็นลบ ไม่มีเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด และยังได้กักตัว น.ส.ปนัสยา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. – 5 พ.ค. ซึ่ง น.ส.ปนัสยา ไม่ได้ออกไปภายนอกเรือนจำหรือทำกิจกรรมใดๆ จนกระทั่งได้รับปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 6 พ.ค. อีกทั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ยังได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุก 100 เปอร์เซ็นต์ อีกครั้งในแดนที่ น.ส.ปนัสยา กักตัวอยู่ ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ต้องขังคนใดที่อยู่ร่วมกับ น.ส.ปนัสยา ติดเชื้อโควิด-19

ส่วนกรณีของนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ แกนนำกลุ่มคณะราษฎรที่ต้องดำเนินการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนนำตัวขึ้นศาลเพื่อให้ได้ผลตรวจล่าสุดนั้น ในวันนี้ (13 พ.ค.) ผลการตรวจนายภาณุพงศ์ พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันได้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ