ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเตือนใช้สื่อออนไลน์อย่างมีสติ"คิดก่อนโพสต์" อย่าปักใจเชื่อข้อความลักษณะ"เขาว่ามา"โดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง การส่งต่อข่าวปลอมมีความผิดโทษหนัก
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. และ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์เสนอข่าวพ่อเลี้ยงแอบถ่ายลูกมานานกว่า 2 ปีและมีการตรวจสอบภายหลังพบว่าไม่ใช่เรื่องจริง ว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความบอกเล่าเรื่องราวของเพื่อนหลาน ที่ได้ถูกพ่อเลี้ยงแอบถ่ายขณะอาบน้ำเป็นเวลากว่า 2 ปี เมื่อหลานทราบจึงรับพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้ ได้ส่งข้อความไปบอกให้พ่อเลี้ยงเลิกกระทำพฤติกรรมดังกล่าว พ่อเลี้ยงกลับขอดูเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากการโพสต์เรื่องราวดังกล่าวลงไปบนสื่อสังคมออนไลน์ ก็มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย แต่ภายหลังเมื่อได้ตรวจสอบกับทาง ผกก.สภ.เมืองปาน จ.ลำปาง แล้วพบว่า ไม่เป็นความจริง เด็กผู้เสียหายอาศัยอยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดมาตลอด ไม่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงแต่อย่างใด ภาพที่ถูกนำมาแชร์ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน
ทั้งนี้ จากการที่มีผู้นำเรื่องดังกล่าวมาโพสต์ก็ย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่เด็ก แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม หากเป็นเรื่องจริงก็มีส่วนทำให้เด็กได้รับความอับอาย ยิ่งเป็นการตอกย้ำบาดแผลภายในจิตใจของเด็กและอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตหรือการเข้าสังคมของเด็กอีกด้วย ในส่วนข้อกฎหมายแม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงก็อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 หากไม่ใช่เรื่องจริงก็อาจจะส่งผลให้บุคคลทั่วไปที่ผ่านมาเห็นเข้าใจผิดในเหตุการณ์ดังกล่าว และก็อาจจะทำให้เด็กได้รับความอับอายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียงได้เช่นกัน ผนวกกับการที่มีภาพประกอบซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายปีแล้ว ก็ยิ่งเป็นการรื้อฟื้นเหตุการณ์นั้นขึ้นมาอีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของเด็กผู้เสียหาย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนข้อกฎหมายอาจจะเข้าข่าย ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 , ความผิดฐานเผยแพร่ทางสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทําให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 27, ความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอายโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รอง โฆษก ตร. กล่าวว่า ขอให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติ “คิดก่อนโพสต์” ใช้วิจารณญาณในการเลือกรับสื่อและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารให้ดีว่าเรื่องราวนั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อย่าปักใจเชื่อในข้อความลักษณะ ”เขาว่ามา” โดยไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้มาอ้างอิง ไม่เช่นนั้นแล้วท่านอาจจะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดในการส่งต่อข่าวปลอมโดยที่ไม่รู้ตัว และหากพบเบาะแส สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599