กรมชลประทานเดินหน้าโครงการพัฒนาการจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน(ชป.) เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำยมมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 4,129 ล้าน ลบ.ม. แต่สามารถเก็บกักไว้เพียง 406 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้ กรมชลประทาน จึงได้วางแผนก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆ แบบขั้นบันได เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยมได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดลำน้ำ อาทิ ที่จังหวัดพิจิตร กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าแห มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเหนือประตูระบายน้ำประมาณ 12.6 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 81,000 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 1,400 ครัวเรือน ปัจจุบันมีผลงานคืบหน้าไปแล้วกว่า 45 %
ทั้งนี้ โครงการฝายบ้านวังจิก มีลักษณะเป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเหนือประตูระบายน้ำ ประมาณ 4.1 ล้าน ลบ.ม. หากก่อสร้างแล้วเสร็จมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 37,000 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 1,200 ครัวเรือน ปัจจุบันมีผลงานคืบหน้าไปแล้วกว่า 46% และอีกโครงการฯ คืองานก่อสร้างประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเหนือประตูระบายน้ำประมาณ 3.1 ล้าน ลบ.ม. หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 28,863 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 1,100 ครัวเรือน มีผลงานคืบหน้าไปแล้วประมาณ 4%
นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่านางงาม มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเหนือประตูระบายน้ำประมาณ 7.6 ล้าน ลบ.ม. หากก่อสร้างแล้วเสร็จมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 51,300 ไร่ และจำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 2,568 ครัวเรือน มีผลความคืบหน้าไปแล้วกว่า 43 %
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานก่อสร้างฝายและประตูระบายน้ำทุกโครงการเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กรมชลประทาน ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน องค์กรส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯเหล่านั้นให้น้อยที่สุด และได้รับประโยชน์สูงที่สุด