อธิบดี สถ.เตือน อย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างแสวงหาผลประโยชน์จากการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ดำเนินการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น เป็นการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งมีเจตนาให้การสอบมีความสุจริต และเที่ยงธรรม เพื่อให้ได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม เกิดประโยชน์ต่อทางราชการ
อธิบดี สถ. กล่าวว่า คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการออกข้อสอบ การคัดเลือกข้อสอบ การพิมพ์ข้อสอบ การจัดสถานที่สอบ การคุมสอบ และการตรวจข้อสอบ ฯลฯ ดังนั้น จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้สมัครสอบทราบโดยทั่วกันว่า
1. การออกข้อสอบและการคัดเลือกข้อสอบ กสถ. ได้มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันการรั่วของข้อสอบ และมาตรฐานของข้อสอบ เช่น ข้อสอบแต่ละวิชาต้องใช้คณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขานั้นอย่างน้อย 3 ท่าน ในการออกข้อสอบ และการออกข้อสอบจะต้องมีอย่างน้อย 5 เท่าของจำนวนข้อที่ใช้ในการสอบ มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผลการศึกษาและคณบดีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือกข้อสอบที่เหมาะสม ส่วนการเก็บรักษาข้อสอบจะเก็บในห้องมั่นคง ซึ่งมีระบบการรักษาความปลอดภัยโดยมาตรการต่างๆ อย่างรัดกุมตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการออกข้อสอบและการคัดเลือกข้อสอบทั้งหมด ก็จะถูกเก็บตัวไว้จนกว่าการสอบแข่งขันจะแล้วเสร็จ
2. กรณีมีผู้แอบอ้างว่าจะช่วยให้ผู้สมัครสอบเป็นผู้สอบได้ โดยใช้วิธีการต่างๆ ขอให้ผู้สมัครสอบอย่าได้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของผู้ที่แอบอ้างดังกล่าว และหากพบเห็นหรือทราบพฤติการณ์ที่จะมีการแอบอ้างดังกล่าว ขอให้แจ้งศูนย์ดำรงธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หมายเลขโทรศัพท์ 0-2241-9014 หรือ 02-241-9000 ต่อ 3331 หรือเว็บไซด์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น www.dla.go.th โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด และดำเนินการทางวินัย (กรณีเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น) ต่อผู้แอบอ้างนั้น
3. กรณีผู้สมัครสอบใช้วิธีการใดๆ (วิ่งเต้น) ที่นอกเหนือจากการใช้ความรู้ ความสามารถของตนเองในการสอบ จะถือว่าผู้นั้นทุจริตในการสอบแข่งขัน ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้สมัครสอบผู้นั้นถูกปรับตกในการสอบครั้งนี้ และผู้สมัครสอบผู้นั้นจะไม่มีสิทธิสมัครสอบเข้ารับราชการใน อปท. อีก ไม่ว่าจะมีการรับสมัครสอบเมื่อใดก็ตาม
4. กรณีผู้สมัครสอบถูกหลอกลวงหรือแอบอ้าง เพื่อเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบด้วยวิธีการต่างๆ นั้น ขอให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้แจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้แอบอ้างหรือหลอกลวง (ฐานฉ้อโกง) ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ทรัพย์สินหรือเงินที่เสียไปคืนมา ตลอดจนเพื่อไม่ให้ผู้สมัครสอบรายอื่นตกเป็นเหยื่อผู้แอบอ้างหรือหลอกลวง
"หากผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จะต้องรับโทษฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งจะถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ และหรือ ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด" อธิบดี สถ.กล่าว