หน่วยงานงานเรียกร้องจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย แหล่งเรียนรู้บ่มเพาะจินตนาการความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็ก
เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่โอลด์ทาวน์แกลเลอรี่ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับ เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม สมาคมการ์ตูนไทย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ ( TK Park ) สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ( PUBAT ) และ Old Town Gallery จัดเวทีเสวนา “พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย : พื้นที่สร้างสรรค์การอ่าน การเรียนรู้ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ” เพื่อร่วมกันหาแนวทางผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย มุ่งเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพราะวิกฤตโควิด - 19 ทำให้เด็กเยาวชนขาดการพัฒนาและการเรียนรู้มากขึ้น
น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย ซึ่งจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์การอ่าน การเรียนรู้ของเด็กๆ เด็กเหมือนกระดาษที่เปื้อนสีได้ง่ายตามสิ่งแวดล้อมรอบตัว วัยเด็กจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิต การสร้างพื้นที่เรียนรู้ จะช่วยแต่งแต้มสีสันอันงดงามให้กับกระดาษสีขาว จึงเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของสังคม การ์ตูนเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่เข้าถึงความรู้สึก นึกคิดและ จินตนาการของเด็กได้ง่ายที่สุด การ์ตูนที่ดีสักเรื่องหนึ่งสามารถบ่มเพาะต้นกล้าเล็กๆให้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงงดงามได้ จึงควรมีพื้นที่สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กให้มากขึ้น
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. อดีตประธานอนุกรรมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก กล่าวว่า แหล่งเรียนรู้ อาทิ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, ห้องสมุด ฯลฯ เป็นพื้นที่สำคัญสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เพราะหากเด็กๆขาดการเรียนรู้ จะส่งผลกระทบทั้งในด้านความเป็นอยู่ภายในครอบครัว สังคม และจิตใจ มีงานวิจัยพบว่า ยิ่งเด็กๆกลุ่มเปราะบาง ขาดโอกาสในการศึกษาการเรียนรู้ ก็จะมีโอกาสเข้าสู่วงจรอาชญากรรมสูงถึงร้อยละ 60 แม้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในอนาคต และเป็นพันธกิจเดียวที่กรุงเทพมหานคร ยังไม่สามารถดำเนินงานได้ลุล่วง ตามพันธกิจที่เสนอต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
ด้านนายพลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาและประเทศมัลดิฟส์ ให้ความเห็นว่า การ์ตูนไทยเป็นสื่อที่สำคัญยิ่ง หากเรามีพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยจะได้เป็นแหล่งรวบรวมเผยแพร่ประวัติการ์ตูน ความเป็นมา และวิวัฒนาการของการ์ตูนไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักต่อทรัพยากรสารสนเทศ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติในสาขานี้ เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ของโลกที่ภาคภูมิใจในศาสตร์และศักยภาพของสื่อการ์ตูน ที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบ เนื้อหา การสื่อสาร ฯลฯ บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ทางด้าน เซีย ไทยรัฐ อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทยและประธานเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม กล่าวว่า ก่อนนี้เรามีประชุมระดมความคิดในเครือข่ายการ์ตูนไทยกันบ่อยมาก เพื่อร่วมนำเสนอการออกแบบจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย ทั้งการศึกษา รวบรวมข้อมูลสภาพปัญหา และยุคทองของการ์ตูนไทยตั้งแต่แรกเริ่ม จนเข้าสู่รูปแบบและเพลตฟอร์มใหม่ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากนักการ์ตูนเยาวชนและนักการ์ตูนชั้นครูมากมาย เพื่อหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่ที่มีชีวิต มีรายการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการ์ตูนไทย การแสดงศิลปะการวาดการ์ตูน การแข่งขันศิลปะการ์ตูนตั้งแต่รุ่นเล็ก มืออาชีพ การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆจากการ์ตูน การนำการ์ตูนไปรับใช้สังคม ร่วมรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ฯลฯ
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ Cartoon ไทย in Old Town จากนักการ์ตูนชั้นครูและนักการ์ตูนรุ่นใหม่ 30 คน กว่า 200 ภาพ เพื่อแสดงความร่วมมือของศิลปินการ์ตูนที่พร้อมจะร่วมสนับสนุนกิจกรรมดีๆ หากมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย และเรียกร้องให้รัฐยังสนับสนุนและให้ความสำคัญกับศิลปะแขนงนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมและบริจาคหนังสือนิทานเพื่อจัดตั้งธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยในชุมชนคนจนเมืองได้จนถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นี้