ศาลจำคุกอดีตแกนนำกปปส.คดีชุมนุมปิดเมืองไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ส่งผลให้"ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์-ถาวร"พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีทันทีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา160 (7)
เมื่อวันที่ 24ก.พ.ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกในคดีชุมนุมปิดเมืองขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยคำนายสุเทพ 5 ปี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน และนายถาวร เสนเนียม จำคุก 5 ปี
ทั้งนี้การที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดังกล่าว ทำให้ทั้ง 3คนต้องหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีทันทีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา160 (7)
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 160 บัญญัติไว้ว่า รัฐมนตรีต้อง (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (2) มีอายุไม่ต่ํากว่าสามสิบห้าปี (3) สําเร็จการศึกษาไม่ต่ํากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
ด้านนายธนกฤต วรธนัชชากุล ผอ.สำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก กับการสิ้นสุดสถานภาพความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติหลักเกณฑ์การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีไว้หลายกรณี โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงในเรื่องนี้อยู่ด้วยกันหลายมาตรา ที่น่าสนใจที่จะนำมากล่าวในที่นี้ คือ บทบัญญัติในมาตรา 98 (6), มาตรา 101 (6) และ (13) และมาตรา 160 (6) และ (7)
ในกรณีของ ส.ส. หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ถึงแม้จะพิพากษาให้รอการลงโทษก็ถือเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง เว้นแต่ความผิดที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษนั้นจะเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13) จึงจะถือเอาเหตุที่ศาลรอการลงโทษดังกล่าวมาเป็นเหตุยกเว้นไม่ทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงไปได้
โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13) นี้ กำหนดหลักเกณฑ์ของคำพิพากษาของศาลที่จะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงไว้ว่า จะต้องเป็นคำพิพากษาของศาลให้ลงโทษจำคุกที่ถึงที่สุดเท่านั้น ดังนั้น หากยังอยู่ในระหว่างกระบวนการอุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลตามกฎหมาย คำพิพากษาของศาลนั้นย่อมยังไม่ถึงที่สุด และยังไม่ถือเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง
ส่วนกรณีของรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) บัญญัติไว้ว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก โดยไม่คำนึงว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ หรือคำพิพากษาที่ให้ลงโทษจำคุกนั้นจะมีการอการลงโทษ เว้นแต่ความผิดที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษนั้นจะเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดฐานหมิ่นประมาท
ดังนั้น หากรัฐมนตรีต้องคำพิพากษาของศาลให้ลงโทษจำคุก ถึงแม้ว่าคำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุด ยังอยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ฎีกาตามกฎหมายอยู่ก็ตาม ก็ถือเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 (7) แล้ว ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของ ส.ส.ที่คำพิพากษาของศาลที่จะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง ต้องเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดเท่านั้น
ส่วนเหตุการสิ้นสุดสถานภาพความเป็น ส.ส. หรือความเป็นรัฐมนตรีในกรณีที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษและเหตุยกเว้นนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13) และ มาตรา 166 (7) บัญญัติไว้เหมือนกัน ดังได้กล่าวไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ทำให้สถานภาพความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีสิ้นสุดลงได้อีกกรณีหนึ่ง คือ หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแล้ว หากจำเลยที่เป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ยื่นคำร้องขอประกันตัวหรือขอปล่อยชั่วคราว ก่อนที่จะมีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาของศาลต่อไป แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลในทันที ทำให้ต้องถูกคุมขังชั่วคราวตามหมายศาลในระหว่างที่รอคำสั่งศาลว่าจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวหรือไม่ กรณีดังกล่าวนี้ก็ถือเป็นเหตุให้สถานภาพความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ประกอบมาตรา 101 (6) และ มาตรา 160 (6) ด้วยเหตุจากการต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาลเช่นกัน