แรงงานผิดกฎหมาย 3 สัญชาติแห่ขึ้นทะเบียนออนไลน์ตามมติครม.กว่า 6 แสนคน รมว.แรงงานเผยรัฐบาลส่งเสริมการจ้างงานให้ถูกต้อง ป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงาน
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงจำนวนแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ที่ขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงาน ตามมติ ครม.วันที่ 29 ธ.ค.63 ที่เปิดขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 มค.-13 กพ.ว่า หลังปิดระบบลงทะเบียนออนไลน์เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 13 ก.พ.64 มีแรงงานต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่อแล้วทั้งสิ้น 654,864 คน ต้องเข้าตรวจคัดกรองโควิด-19 พร้อมจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลภายใน 16 เม.ย. 64 หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะมีข้อมูลพร้อมที่จะตรวจสอบ หากพบว่านายจ้างและแรงงานมีการจ้างงาน ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจะดำเนินการตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ผลการยื่นคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวต่อนายทะเบียนโดยผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อ จำนวน 133,910 ราย เป็นคนต่างด้าว 596,502 คน แยกเป็น กัมพูชา 180,476 คน ลาว 63,482 คน และเมียนมา 352,544 คน และกลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง 58,362 คน แยกเป็น กัมพูชา 23,203 คน ลาว 3,626 คน และเมียนมา 31,533 คน รวมทั้งสองกลุ่มจำนวน 654,864 คน แยกเป็น กัมพูชา 203,679 คน ลาว 67,108 คน และเมียนมา 384,077 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ.64 เวลา 23.59 น.)
สำหรับ จังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียนสูงสุด 5 อันดับคือ กรุงเทพมหานคร 120,163 คน ชลบุรี 47,326 คน ปทุมธานี 38,994 คน สมุทรปราการ 37,621 คน และสมุทรสาคร 28,953 คน และประเภทกิจการที่มีการขออนุญาตทำงาน 5 อันดับแรก ได้แก่ กิจการก่อสร้าง คน 148,332 คน เกษตรและปศุสัตว์ 117,430 คน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 49,702 คน การให้บริการต่างๆ 45,118 คน และกิจการต่อเนื่องการเกษตร 39,025 คน
รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า การเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฏหมายบรรลุผลตามที่กระทรวงแรงงานคาดการณ์ตั้งแต่แรกว่ามีแรงงานผิดกฏหมายประมาณ 5 แสนคน ไม่ได้มีมากมายเป็นล้านคนอย่างที่หลายคนพูดถึง อีกทั้งการเปิดขึ้นทะเบียนเป็นการเปิดให้นายจ้าง แรงงานสามารถอยู่ทำงานโดยไม่ต้องกังวลที่จะจ้าง ทำงานอย่างหลบๆซ่อนๆอีก ทั้งนี้การเปิดขึ้นทะเบียนเพื่อให้แรงงานเข้าระบบเป็นแรงงานที่ถูกต้อง
สำหรับ ขั้นตอนต่อไปดำเนินการ ดังนี้ กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้างเข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 (สธ.) และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย.64 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค (สธ.) ภายในวันที่ 18 ต.ค.64 จากนั้น สธ. ส่งผลการตรวจโรค และ ตม.ส่งข้อมูลการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ให้กกจ.ออกใบอนุญาตทำงานต่อไป นายจ้างชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th แนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงานเพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) และรับบัตรสีชมพู ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนด ภายใน 30 ธ.ค.64
กรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง เข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 (สธ.) และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย.64 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค (สธ.) ภายในวันที่ 18 ต.ค.64 คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค ทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 นายจ้างที่ประสงค์จ้างคนต่างด้าวที่จัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) เข้าทำงาน ยื่นบัญชีรายชื่อแทนคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th ชำระค่าคำขอใบอนุญาตฯ ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์ หลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายใน 13 ก.ย. 64 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายใน 28 ก.พ.2565 กรณีคนต่างด้าวทำงานประมงทะเลไปทำหนังสือคนประจำเรือ ณ ที่กรมประมงกำหนด