โฆษกศาลยุติธรรมเผยศาลพร้อมใช้ช่องทางไกล่เกลี่ยช่วงโควิด-19 ผ่าน LINE-เทคโนฯ IT ช่วยคู่ความลดการเดินทางอีกทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายปลอดการแพร่ระบาด
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดนโยบายในการสนับสนุนและพัฒนาระบบ “ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์” โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่คู่กรณีหรือคู่ความในการยุติข้อพิพาทไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 20 ตรี ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือน พ.ย.63 ที่ผ่านมา หรือการไกล่เกลี่ยภายหลังจากที่มีการยื่นฟ้องคดีซึ่งเป็นการไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาคดีนั้น โดยขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันได้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ไม่กล้าออกจากบ้าน ศาลยุติธรรมจึงได้นำระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์มาใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาทควบคู่กับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามปกติและการพิจารณาคดีในศาล เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดความแออัดในการใช้ห้องประชุม ลดการเผชิญหน้า โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาศาล อีกทั้งยังทำให้คู่กรณีหรือคู่ความสมัครใจและเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมากขึ้น
สำหรับ คู่กรณีหรือคู่ความที่ประสงค์จะให้ศาลดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์นั้น สามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือต่อศาลที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ทั้งนี้ ยังสามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องออนไลน์และคำร้องขอไกล่เกลี่ยหลังจากที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (cios) โดยเข้าไปที่เว็บไซด์ https://mediation.coj.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมผ่านทาง Line openchat ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง และถ้าเป็นระบบ e–filing V.3 ( เวอร์ชั่น 3 ) สามารถเลือกขอไกล่เกลี่ยได้เมื่อมีการยื่นฟ้องแล้ว และเมื่อศาลรับคำร้องและตั้งเป็นสำนวนไกล่เกลี่ย ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำศาลจะสอบถามความประสงค์ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและวันเวลาที่สะดวกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปยังผู้ถูกร้อง พร้อม QR Code ในการตอบรับการเข้าร่วม เมื่อคู่ความหรือผู้ถูกร้องตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยแล้ว ศาลจะดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านจอภาพหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆตามความสมัครใจของคู่กรณีหรือคู่ความ ไม่ว่าจะเป็น การประชุมทางโทรศัพท์ , Video/Web Conference , แอปพลิเคชั่น Line , โปรแกรม Zoom , โปรแกรม Microsoft Teams และหากคู่กรณีหรือคู่ความสามารถตกลงกันได้ ศาลจะดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามวันเวลาที่คู่กรณีหรือคู่ความสะดวกมาศาลต่อไป
ทั้งนี้ ในการให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ ศาลยุติธรรมได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.พ.63 ที่ผ่านมา โดยจากรายงานสถิติการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทคดีออนไลน์ (คดีแพ่ง คดีผู้บริโภค และคดีอาญา) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตั้งแต่เดือน ก.พ.63 ถึงเดือน ก.ย.63 พบว่ามีปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ทั้งหมด 22,824 คดีสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 19,531 คดี (คิดเป็นร้อยละ 85.57) มีศาลที่ดำเนินการทั้งหมดจำนวน 221 ศาล และในปีงบประมาณพ.ศ. 2564 ตั้งแต่เดือน ต.ค.63 ถึงปัจจุบัน (18 ม.ค.64)มีปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ทั้งหมด 12,807 คดี สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 11,153 คดี (คิดเป็นร้อยละ 87.09) และมีศาลดำเนินการทั้งหมด 229 ศาล
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ นับได้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคู่กรณีและคู่ความที่จะได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายทางคดี และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยนำเทคโนโลยีออนไลน์มาช่วยสนับสนุน อีกทั้งยังสอดรับนโยบายการบริหารงานศาลยุติธรรม ของนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ในเรื่องของการลดขั้นตอน ลดภาระค่าใช้จ่ายลดระยะเวลาในการดำเนินคดี และให้โอกาสประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคทั่วถึง โดยสำนักงานศาลยุติธรรมตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์อีกด้วย