THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

17 ธันวาคม 2563 : 19:19 น.

เปิดผลสำรวจความรุนแรงทางเพศ เด็กเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศพุ่ง อายุน้อยสุด4ขวบ กทม.ครองแชมป์ น้ำเมายังคงเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่ามูลนิธฯได้ร่วมกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว จัดสัมมนารายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงทางเพศในรอบปี2562 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ภายในงานมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ส่งพลังใจปกป้องเยาวชน” จากนั้นมีเวทีเสวนาหัวข้อ “ไขปัญหา : เมื่อเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ”

นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯได้เก็บรวบรวมข่าวสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศปี 2562 ในหน้าหนังสือพิมพ์ 9 ฉบับ พบว่า มีข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกว่า 333 ข่าว แบ่งเป็น ข่าวข่มขืน ร้อยละ 43.9 ข่าวบังคับค้าประเวณี ร้อยละ11.7 ข่าวพยายามข่มขืน ร้อยละ10.2 สำหรับอายุผู้ถูกกระทำ พบมากที่สุด คือเด็กและเยาวชน11-15 ปี ร้อยละ47.3 รองลงมา อายุ 16-20 ปีร้อยละ 35.7 อายุ 6-10 ปี ร้อยละ 4.5 อายุ 21-25 ปี ร้อยละ 4.1

ทั้งนี้ ที่น่าห่วง คือ อายุผู้ถูกกระทำที่น้อยสุด คือ เด็กหญิง วัย 4 ขวบ (กรณีข่าว ถูกน้าชายเสพยาบ้าข่มขืน) ส่วนอายุมากสุด คือ อายุ 94 ปี (กรณี ถูกเพื่อนบ้านวัย 63 ปี ข่มขืน) ขณะเดียวกัน หากดูอายุของผู้กระทำที่น้อยสุด คือ13 ปี (กรณี ข่มขืนนักเรียนหญิง วัย 14 ปี ซึ่งรู้จักกันผ่าน Face Book) ส่วนผู้กระทำที่มีอายุมากสุด คือ อายุ 89 ปี (กรณี ข่มขืน หญิงวัย 84 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกัน) เมื่อตรวจสอบอาชีพของผู้ถูกกระทำ พบว่า ร้อยละ84.8 เป็นนักเรียน นักศึกษา

นอกจากนี้ผลสำรวจ ยังพบความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ อันดับ 1 เกิดจากบุคคลแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 45.9 อันดับ2 เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัว ร้อยละ 45.6 อาทิ ครูกระทำกับนักเรียน นักเรียนกระทำกับนักเรียน , เพื่อนร่วมงาน/เพื่อน , คนข้างบ้าน , พระกระทำเด็กที่คุ้นเคยกัน พ่อเลี้ยง-ลูกเลี้ยง , ลุง-หลาน , พ่อ-ลูก , น้า-หลาน ส่วนอันดับ 3 ถูกกระทำจากบุคคลที่รู้จักกันผ่าน Social Network ร้อยละ 8.5 และปัจจัยกระตุ้น มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด ความต้องการทางเพศ ส่วนพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี ขอนแก่น กระบี่ อุดรธานี

นางสาวอังคณา กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิฯได้ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศ ปี 2562-2563 พบเข้ารับคำปรึกษาช่วยเหลือ 36 กรณี ส่วนใหญ่ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ โดยผู้ถูกกระทำอันดับหนึ่ง คือ นักเรียน/นักศึกษา รองลงมา พนักงานของรัฐ/บริษัทเอกชน รับจ้าง ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า ข้อมูลที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรวบรวมมาเป็นเพียงส่วนน้อยของจำนวนเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นจริง คนที่ถูกล่วงละเมิดส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งเขาอยู่ในวัยที่ประสบการณ์น้อย ยังต้องพึ่งพาและอยู่ใต้อำนาจของผู้ใหญ่ สังคมไทยชอบบอกว่าเด็กเป็นเสมือนผ้าขาว มองว่าเด็กดีควรเป็นเด็กที่ไร้เดียงสา โดยเฉพาะเรื่องเพศ เราไม่ยอมพูดความจริงกันว่าทุกวันนี้ภัยทางเพศมีอยู่รอบตัวเด็ก ครอบครัวและโรงเรียนเลยไม่บอกไม่สอนให้เด็กเรียนรู้และมีทักษะในการป้องกันตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เอาแต่พูดลอยๆ ว่าเด็กผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ซึ่งการพูดเพียงเท่านี้ไม่ได้ช่วยให้เด็กมีทักษะป้องกันตัวหรือรับมือกับอันตรายทางเพศได้

สำหรับ ปัจจัยรากเหง้าอีกอย่างคือวัฒนธรรมอำนาจนิยม สังคมไทยมักสอนให้เด็กเคารพคนมีอำนาจ เราสอนแบบเหมารวมว่าเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องกตัญญูรู้คุณ ยิ่งเป็นญาติผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ยิ่งต้องเคารพ เราไม่สอนให้เด็กรู้จักแยกแยะระหว่างผู้ใหญ่ที่น่าเคารพกับผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต แสวงหาประโยชน์ ละเมิดสิทธิ หรือทำร้ายเด็ก พอวัฒนธรรมที่กดทับควบคุมเรื่องเพศของเด็กกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมมันมาเจอกัน ไม่ว่าจะในครอบครัวหรือโรงเรียน มันก็มีโอกาสที่เด็กจะถูกละเมิดทางเพศได้มาก และเมื่อเกิดเรื่องเด็กก็มักไม่กล้าพูดไม่กล้าบอกใคร เพราะสิ่งที่เขาเจอมันขัดกับสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกสอนมา และคนในสังคมบางกลุ่มจะหันมาประณามเด็กว่าโกหกหรือใจแตก ถ้าเรายังอยู่กันแบบนี้ ก็เท่ากับว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่ยอมรับให้มีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้โดยปริยาย

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ