กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจับมือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ระบบศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐนำร่อง เทศบาลเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่เป็นต้นแบบ
นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงได้จัดประชุมหารือร่วมกับคณะผู้แทนจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ประกอบด้วย นายณัฐวัชร์ วรนพกุล รองผู้อำนวยการ สพร. นายพิสิษฐ์ ปิยพสุนทร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ นายชัชวาล ชิดชัยมงคล ที่ปรึกษาศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ และนายสุดเขต เชยกลิ่นเทศ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ โดยเป็นการหารือเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สามารถยกระดับคุณภาพการให้บริการประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ
ทั้งนี้ จากการหารือเบื้องต้น ที่ประชุมเห็นควรให้ขอการสนับสนุนนำแผนงานขยายการให้บริการรัฐบาลดิจิทัลภาครัฐในระดับท้องถิ่น โดยมีเทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้นแบบ ในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้มาติดต่อราชการ โดยมีโครงการนำร่อง อาทิ โครงการ One Stop Service ในการช่วยพิจารณาอนุมัติเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างที่มีเนื้อที่น้อยกว่า 150 ตารางเมตร ซึ่งโดยกระบวนการปกติแล้วต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอย่างน้อย 12 - 15 วัน ลดลงเหลือเพียง 15 นาที เพียงทำการแจ้งคำร้องผ่านเว็บไซต์ เพื่อลงตารางนัดออนไลน์ แล้วสามารถตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง และโครงการ MAEHIA SMART CITY ซึ่งเป็นช่องทางในการแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะเหตุไฟฟ้าขัดข้อง ตอม่อแต่ละตัวจะได้รับการลงทะเบียนไว้อย่างครบถ้วน เมื่อได้รับการแจ้งเหตุฉุกเฉินจึงทำให้เจ้าหน้าที่เทศบาลเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับแนวทางการปฏิบัติงานที่หัวหน้ากองช่างและเจ้าหน้าที่ทุกคนจะมี KPI ในทุกขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามมาตรฐาน ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้มีข้อสังเกต และคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำฐานข้อมูล ตามแบบประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการบริหารจัดการ เรื่องการจัดทำฐานข้อมูล โดยสามารถนำมาเปิดเผยบนระบบศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ภายใต้ชื่อ “data.go.th” ที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดการเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐของประเทศที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้สะดวก รวดเร็ว ตลอดเวลา โดยข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในรูปแบบไฟล์ที่สามารถแสดงตัวอย่างข้อมูล (Preview) การแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Visualization) และเอพีไอ (API) แบบอัตโนมัติให้กับชุดข้อมูลที่เผยแพร่ได้ รวมทั้งยังสามารถจัดการชุดข้อมูลและเมทาดาตาของข้อมูลได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อฐานข้อมูลทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อลดขั้นตอน ปรับกระบวนการทำงาน พร้อมให้บริการประชาชน โดยมีเป้าหมายในสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะต้องมี 20 จังหวัดที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบในการเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลพื้นฐานของประชาชน สิทธิการศึกษา สวัสดิการ ผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนเป้าหมายในปีงบประมาณ 2565 - 2567 คือการจัดทำการสำรวจที่ดินและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 14 ล้านคน แล้วพัฒนาไปสู่ระบบฐานทะเบียนทรัพย์สินต่อไป