สสส.ชวนฝ่าวิกฤตฝุ่น PM2.5 ดึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 7 ด้าน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสร้างความตระหนักลดมลพิษทางอากาศ
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงเปิดตัว “โครงการพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย”
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ รวมทั้งฝุ่นพิษ PM2.5 มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น การนำเสนอข้อมูลสู่ประชาชนจึงควรมีความชัดเจน ตรงเป้า คลอบคลุมประเด็นที่มีความหลากหลายเพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ สสส. คัดสรรผู้นำที่มีความสามารถเชิงวิชาการและอัตลักษณ์เฉพาะตัว ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 2.พัฒนาสุขภาพอาเซียน 3.นิติศาสตร์ 4.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5.การลงทุน 6.วิศวกรรมศาสตร์ และ 7.วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม รวมถึงมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ทั้ง 13 ชาติพันธุ์ ครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศทั่วประเทศ ในการนำองค์ความรู้ความสามารถมาใช้คิด พัฒนา และส่งเสริมให้มีการสื่อสารจนเกิดการตระหนักถึงภัยร้ายของมลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สสส.เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยใช้ Prime Mover เป็นเครื่องมือที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในงานสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นอื่นๆ ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนสังคม ถือว่าเป็นมิติใหม่สำหรับประเทศไทยในการที่มีกลุ่มนักวิชาการสหสาขาวิชาที่อุทิศตนอย่างมุ่งมั่น เกาะติดในประเด็น และที่สำคัญคือ มีความถนัดเฉพาะทางที่แตกต่างกันแต่มีจุดร่วมกันคือการหาทางออกให้กับชาติบ้านเมืองในการฝ่าวิกฤตฝุ่นควันซึ่งเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนสุขภาพของประชาชนและส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งภาพลักษณ์และบรรยากาศในการลงทุนภายในประเทศ
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า Prime Mover สามารถช่วยรัฐบาลในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้ โดยเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการจัดการภาครัฐ (Public Sector Managerial Change) โดย Prime Mover 1 คนจะมีทีมลงพื้นที่จากกลุ่มพลเมืองสร้างสรรค์ที่สนใจแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอีก 5 คน และจะเพิ่มสมาชิกกลุ่มพลเมืองสร้างสรรค์ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ยกตัวอย่าง ในประเทศอินเดียประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างหนักในช่วงปี พ.ศ. 2483-2513 รัฐบาลอินเดียภายใต้การเป็นผู้นำของนางอินทิรา คานธี ได้เริ่มการปฏิวัติเกษตรกรรม (Green Revolution) ส่งผลให้ประเทศอินเดียสามารถผลิตอาหารเลี้ยงพลเมืองได้ ที่สำคัญคือ ปัจจุบันสามารถผลิตข้าวเพื่อบริโภคมากกว่า 1,200 ล้านคน และส่งออกจำหน่ายสู่ตลาดต่างประเทศอีกด้วย ความสำเร็จนี้ล้วนมาจาก Prime Mover ที่มีความรู้ความเข้าใจในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่