กมธ.ปภ.จับมือเครือข่ายภาครัฐประชาสังคมตั้งวงถกแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ลดผลกระทบภัยพิบัติ เร่งเสริมบทบาทชุมชนจัดการปัญหาด้วยตนเอง
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย (กมธ.ปภ.) สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิชุมชนไท และภาคีเครือข่ายภัยพิบัติ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาเรื่อง “ข้อจำกัดของการจัดการภัยพิบัติในสังคมไทย” เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาสาระสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง ณ ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต
นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ประธานคณะกมธ.ปภ. กล่าวว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นภายในประเทศที่ผ่านมาหลายครั้ง พบว่าการป้องกันภัยต่าง ๆ ยังไม่สามารถช่วยลดทอนความสูญเสียให้น้อยลงได้มากนัก โดยมักขาดศักยภาพการเชื่อมโยงและบูรณาการกันอย่างเป็นระบบ ด้วยข้อจำกัดหลายประการทั้งเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อน หรือกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยให้ชุมชนมีสิทธิจัดการตัวเอง จึงเกิดเป็นแนวความคิดการระดมความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ เพื่อแก้ไขและพัฒนาสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ให้เท่าทันกับสถานการณ์ภัยพิบัติในปัจจุบันที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย กมธ.ปภ. จะจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วยนักวิชาการและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกประกอบการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และกำหนดให้ภาครัฐต้องสนับสนุนทรัพยากรแก่ชุมชนในการจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง
ด้านน.ส.ชัชดาพร บุญพีระณัช ผอ.กองนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า แนวทางการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้กับประชาชน แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะป้องกันควรเริ่มจาก 1.ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสร้างแนวปฏิบัติลดความเสี่ยงร่วมกัน 2.พัฒนาประสิทธิภาพของมาตรการในด้านการอพยพ เช่นการจัดตั้งศูนย์อพยพเพิ่มมากขึ้น 3.พัฒนาระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินสำหรับเมืองที่มีขนาดเล็ก ๆ ลดการกระจุกตัวอยู่แค่เฉพาะเมืองใหญ่ 4.เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้น ควรมีระบบการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยอย่างทันท่วงที ส่วนในระยะฟื้นฟู ควรจัดให้มีการฟื้นฟูทางสังคม ความเป็นอยู่ทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ การดูแลสถาบันความมั่นคงของครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนควรมีแผนฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน และการบูรณาการกันจากทุกหน่วยงาน
นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า มูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อเสริมความคล่องตัวในการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที โดยเริ่มจากการสนับสนุนให้บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จัดทำแผนรับมือกับภัยพิบัติสึนามิ เกิดการอบรมฟื้นฟูชุมชน และประสานความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดภัยพิบัติซ้ำในอนาคต ปัจจุบันมีพื้นที่นำร่องงานป้องกันภัยพิบัติใน 11 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ปทุมธานี สมุทรสาคร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช และสงขลา
ทั้งนี้ ทุกพื้นที่ต่างมีกลไกการจัดการตัวเอง ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่มากขึ้น แต่จากการทำงานที่ผ่านมายังพบอุปสรรคอีกหลายประการ เช่น มีประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิการช่วยเหลือจากรัฐ เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางราชการมายืนยัน หรือกรณีมีความพยายามจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อสนับสนุนส่งเสริมชุมชนเตรียมความพร้อมการจัดการภัยพิบัติ แต่ยังขาดกฎหมายรองรับ ซึ่งมูลนิธิฯ จะร่วมกับ กมธ.ปภ. สภาผู้แทนราษฎร สนับสนุนการปรับแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ เพื่อเสริมศักยภาพการทำงานรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมเสนอแก้ไขกฎหมายให้หน่วยงานรัฐสามารถจัดสรรทรัพยากรลงสู่ชุมชนได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น