.
โดย...อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
*******************************
วันนี้มาชมเครื่องรางอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันมากเช่นกันนั่นคือหุ่นพยนต์ เป็นการจัดสร้างหุ่นจำลองรูปคนโดยครูบาอาจารย์ผู้มีวิชาอาคม และยังถือได้ว่าเป็นเครื่องรางหุ่นพยนต์อันดับต้นของวงการเครื่องรางในทุกวันนี้ มาชมหุ่นพยนต์ของ อาจารย์ลอย โพธิ์เงิน วัดสุวรรณ อยุธยากันครับ
การสร้างหุ่นพยนต์นั้นเป็นความเชื่อในทางไสยศาสตร์มาแต่โบราณวัสดุที่ใช้ในการสร้างมีหลายชนิดเช่น ก้านใบลาน หญ้าแพรก ไม้ไผ่ และขี้ผึ้งมาปั้นเป็นหุ่น เป็นต้น
หุ่นพยนต์ตนนี้ผ่านการชุบรักมา มีร่องรอยผ่านการใช้งาน ผ่านการสัมผัสมา ปรากฏความเก่าของน้ำรักที่แห้งแบบมีเสน่ห์ ว่าเก่าถึงยุคท่านแน่นอนครับ
อาจมีคำถามว่า หุ่นพยนต์ส่วนใหญ่ของอาจารย์ลอย มักจะไม่มีการชุบรัก เพราะเมื่อท่านสร้างแล้วก็จะใส่กรอบพลาสติคให้ แต่สำหรับองค์นี้น่าเชื่อได้ว่าเป็นการสร้างในยุคแรกของท่าน เจ้าของคงนำมาชุบรักเพื่อรักษาหุ่นไว้ กลับกลายเป็นจุดพิจารณาอย่างหนึ่งว่าน้ำรักนั้นเก่าได้อายุการสร้างครับ
ด้านโครงสร้างของหุ่น เส้นลานที่นำมาสานเป็นหุ่นมีความเสมอกัน ทั้งในส่วนของแนวตั้งและในส่วนของแนวนอนเส้นลานที่นำมาสานก็มีขนาดเท่ากัน มีความกลมมนน่ารัก ด้านลำตัวของหุ่นก็มี 6 ปล้องตามแบบมาตรฐานหุ่นยนต์อาจารย์ลอยครับ
มีบันทึกถึงวิธีการสร้างหุ่นพยนต์โดยสรุปจาก อาจารย์มโนมัย อัศวธีระนันท์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องกรุงเก่าและท่านมีรูปหุ่นพยนต์ของอาจารย์ลอย ที่ถ่ายเก็บเอาไว้มากที่สุดว่า หุ่นพยนต์อาจารย์ลอย น่าจะจัดสร้างจากก้านลาน เพราะมีความเหนียวมีความยืดหยุ่นสูง เป็นคุณลักษณะของก้านลานที่ว่า หากมีรอยปริแตกก็จะแตกออกเป็นเส้นแยกออกไปไม่ได้เป็นขุย และมีขนาดเล็กเหมาะที่จะผูกทำหุ่นมากกว่าไม้ไผ่ที่ต้องมานั่งเหลา อีกทั้งหุ่นบางตัวจะมีการต่อเส้นหรือขึ้นเส้นใหม่แสดงว่าวัสดุที่นำมาใช้มีความยาวจำกัด
การนำก้านลานมาสาน เริ่มจากเจาะแผ่นสังกะสี หรือฝากระป๋องนมให้เป็นรู และสอดวัสดุเข้าไป ดึงรูดออกมาให้คมของรูกระป๋องนมหรือสังกะสี รูดบังคับให้ไม้หรือก้านลานมีขนาดเท่ากันทั้งเส้น เมื่อนำก้านลานที่ผ่านกรรมวิธี รูดผ่านรูสังกะสีที่ว่านี้มาสานเป็นหุ่น แนวสานตามขวางทุก ๆ แนวต้องมีขนาดเท่ากันทั้งเส้น วัสดุที่ผ่านการรูดนี้ จะมีลักษณะมนน้อย ๆ เทียบให้เห็นภาพก็คือลักษณะเหมือนหลอดกาแฟผ่าครึ่ง เนื่องจากถูกขอบรูสังกะสีลบคมทั้งสองด้าน มองดูก็จะรู้สึกถึงความเหนียวแน่นได้ชัดเจน
ความกว้างของไม้ที่สานตามแนวนอนและแนวตั้งต้องมีสันฐานเท่ากัน ตรงนี้สำคัญมากเหตุเพราะเมื่อดึงผ่านรูสังกะสี จึงมีสันฐานเท่ากัน หากใช้เหลาแบบเก๊บางสำนักทำออกมา ก็จะเห็นว่าบางแถวแคบบางแถวกว้าง ทั้งนี้แนวตั้งกับแนวขวางไม่จำเป็นต้องเท่ากันเพราะใช้ไม้คนละเส้นกัน ของเก๊โดยมากมักนำไม้ไผ่มาเหลา ๆ ขอบคมเป็นสันไม่โค้งมน
ศิลปของหุ่นพยนต์จะมีหลายยุค แต่รูปแบบจะใกล้เคียงกันมาก รูปแบบของหุ่นลักษณะจากหัวไหล่ที่คอดและค่อย ๆ บานออกตรงส่วนหัว และส่วนหัวจะมีลักษณะแบบหัวหมุด ซึ่งแบบนี้จะพบมากที่สุดและเป็นมาตรฐานทางศิลปของหุ่นพยนต์ อ.ลอย
ส่วนลำตัวแนวตั้งซึ่งเป็นโครง แต่ละโครงจะเว้นช่องไฟไว้พอประมาณ หุ่นตัวนึงส่วนใหญ่ที่พบมักจะมีโครงแนวตั้งนี้อยู่ด้วยกัน 6 แถว แต่ละแถวมักจะประกอบไม้สองเส้นแทบทุกตัว และแนวนอนจะเป็นไม้เส้นเดียวสานไขว้หุ้มส่วนที่เป็นโครงเอาไว้ ทั้งนี้แนวตั้งกับแนวขวางไม่จำเป็นต้องมีความกว้างของไม้เท่ากันเพราะใช้ไม้คนละเส้นกัน
การสานหุ้มโครงลักษณะนี้ ทำให้ลำตัวของหุ่นพยนต์ มีลักษณะเป็นปล้อง ๆ มักจะมีอยู่หกปล้องล้อมโครงหุ่น เป็นทรงกระบอกตั้งแต่ส่วนหัวลงมา ส่วนแขนต่อออกมาจากใต้คอ ไม้มักจะมีขนาดเท่ากับส่วนโครง จะมีอยู่ด้วยกันสามซี่สานแบบถักเปีย บางตัวจะใช้ไม้สองเส้นรวมกันเป็นหนึ่งซี่ ส่วนขาเช่นเดียวกับส่วนแขนคือมีสามซี่ แต่เท่าที่พบโดยมาก แต่ละซี่จะมีสองเส้น อาจจะเจตนาให้ส่วนขามีสัดส่วนใหญ่กว่าส่วนแขนถักไขว้เป็นเปียเช่นกัน
ด้านพุทธคุณของหุ่นพยนต์นั้น ดีทางด้านเมตตามหานิยม ค้าขายร่ำรวย ขอสิ่งใดก็มักจะได้สมตามความปรารถนาเสมอ เหมือนมีเพื่อนคู่คิด มิตรคู่กายดีที่คอยคุ้มครองเรา ที่สำคัญคือควรจะทำบุญกรวดน้ำให้แก่หุ่นพยนต์ที่เราใช้อยู่เป็นประจำ มีข้อห้ามคืองดถวายเหล้ายาอย่างเด็ดขาด
สำหรับบางคนที่ไม่ได้เชิญหุ่นพยนต์ติดตัวขึ้นคอ ก็สามารถวางบนพานพุ่ม ถวายน้ำ ถวายบุหรี่ เวลาจะกินข้าวก็เรียกให้หุ่นพยนต์มากินด้วยกัน เท่านั้นก็พอ