ศาลอุทธรณ์ฯสั่งศาลแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบรับไต่สวนมูลฟ้องคดีลูกน้องเก่ายื่นฟ้อง“ จักรทิพย์ ชัยจินดา” โยกย้ายไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อท.256/2563 ที่ พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ รอง ผบก.อก.ภ.9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 กรณี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร.(ขณะนั้น) ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย พ.ต.อ.ไพรัตน์ โจทก์ จากรอง ผบก.ภ.จว.เพชรบุรี ไปเป็น รอง ผบก.อก.ภ.9 โดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีมูลเหตุจูงใจด้านอื่น
คดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษายกฟ้อง เห็นว่าโจทก์ได้ทำการร้องทุกข์ต่อ ก.ตร. ขอให้กลับไปทำหน้าที่ใน บช.ภ.7 และยังอยู่ระหว่างดำเนินการของ ก.ตร.เกี่ยวกับข้อร้องทุกข์ดังกล่าว โดยยังไม่มีคำสั่ง จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ์ ในชั้นนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ขอให้รับคดีไว้พิจารณา
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ปัญหานี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การโยกย้ายโจทก์ในวาระประจำปี 2562 จำเลยพิจารณาปรับย้ายโจทก์ข้ามภาคเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่หน่วยต้นสังกัดเสนอมา กรณีโจทก์ถูกดำเนินการทางวินัยเกี่ยวกับการจัดทำกิจกรรมดนตรีที่ จ.ภูเก็ต อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัยไม่เสร็จสิ้นและโจทก์มีความรู้ประสบการณ์ด้านงานอำนวยการในตำแหน่งต่าง ๆ รวม 10 ปี เหมาะสมกับตำแหน่งเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคล ให้ผู้แต่งตั้งมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมตามความเหมาะสมคำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลทุกข์สุขของราษฎรเป็นสำคัญ
โดยยึดหลักการว่าทุกพื้นที่ในราชอาณาจักรไทยข้าราชการตำรวจมีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติราชการทั้งสิ้น เกิดการเรียนรู้การทำงานรอบด้านหรือพื้นที่ที่หลากหลายอันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และกฎคณะกรรมการ ข้าราชการตำรวจ (ก.ตร. ) ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2561 ข้อ 6 การใช้ดุลพินิจของจำเลยอยู่ภายในขอบเขตความชอบด้วยกฎหมายโจทก์ก็ใช้สิทธิร้องทุกข์ตามกฎ ก.ตร. เรื่องอยู่ระหว่างพิจารณาการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิและยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ หากการร้องทุกข์ไม่เป็นคุณโจทก์ย่อมสามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าการโยกย้ายโจทก์เป็นกรณีจำเลยใช้อำนาจโดยลำพังตามมาตรา 54 วรรคสอง, 56, 57 ประกอบกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร. ) ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจพ.ศ.2561 ข้อ 6 มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและขั้นตอนที่ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับชั้น ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองการแต่งตั้งก่อนตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) ถือได้ว่าการโยกย้ายโจทก์เป็นการโยกย้ายที่แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ทั่วไป แม้กฎหมายจะให้อำนาจจำเลยแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมการแต่งตั้งดังเหตุผลคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นก็ตาม
แต่ในข้อนี้ โจทก์บรรยายฟ้องถึง สาเหตุที่จำเลยกลั่นแกล้งสั่งย้ายโจทก์ว่าเกี่ยวข้องกับกรณีที่กล่าวหาว่า โจทก์มีปัญหาต่อต้านหรือคัดค้านระเบียบการตัดผมสั้นเกรียนและการจัดทำกิจกรรมดนตรีที่ จ.ภูเก็ต อันเป็นเหตุให้โจทก์กล่าวหาว่า พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผบ.ตร.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโจทก์อ้างว่าถูกกลั่นแกล้งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยจากเรื่องจัดแสดงดนตรีดังกล่าวอันเป็นเท็จ ซึ่งกรณีโจทก์ถูกดำเนินการทางวินัยนั้นเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่จำเลยนำมาพิจารณาสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง ย้ายโจทก์เพิ่มเติมนอกเหนือที่หน่วยต้นสังกัดเสนอมา ฟ้องโจทก์ยังอ้างพยานบุคคลและหลักฐานอื่น ๆ มาให้ศาลไต่ส่วน ฟ้องโจทก์จึงถูกต้อง บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาจำเลยและชี้ช่องพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและมาตรา 16 วรรคหนึ่ง
ดังนั้นเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์ที่อ้างอิงตามสมควรแก่คดีว่าจำเลยเกี่ยวข้องในการกลั่นแกล้งโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวหาตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยพฤติการณ์จากคำเบิกความของพยานบุคคลและหลักฐานต่าง ๆ มาประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีตามสมควร
การที่ศาลชั้นต้นไม่ให้โอกาสโจทก์นำพยานมาไต่สวนกลับมีคำวินิจฉัยว่าโจทก์บรรยายฟ้องมาอย่างเลื่อนลอย ปราศจากหลักฐานใดมาสนับสนุนให้เห็นถึงพฤติกรรมและการแสดงออกของจำเลย แล้วมีคำพิพากษายกฟ้อง จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่สิ้นกระแสความเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯเห็นเป็นการจำเป็นต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 43 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องมานั้นศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯไม่เห็นพ้องด้วย
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จึงนัดพร้อมคู่ความ วันที่ 12 ธ.ค.นี้ และนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์วันที่ 15 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นรับคดีนี้ไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้อง ในชั้นนี้จำเลยยังไม่ต้องมาศาล โดยขั้นตอนไต่สวนมูลฟ้องจำเลยสามารถแต่งตั้งทนายมาเพื่อมาซักค้าน พยานฝ่ายโจทก์ที่มาไต่สวนได้