ศาลรธน. มีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้ "ปารีณา-ศรีนวล" ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส. ไม่ได้ใช้ตำแหน่งก้าวก่ายจนท.รัฐ-ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวจัดสรรงบรพ.
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 23 ก.ย.63 ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังค์ เพื่ออ่านคำวินิจฉัย เรื่องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้รัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประช่ารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(7) ประกอบมาตรา 185 (1) และสมาชิกภาพ ส.ส.ของ น.ส.ศรีนวล บุญลือ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 101(7) ประกอบมาตรา 185 (2) หรือไม่ โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนเข้ารับฟัง ขณะที่ น.ส.ปารีณา และ น.ส.ศรีนวล ไม่ได้เดินทางมาศาล ซึ่ง น.ส.ปารีณา มอบหมายให้นายทศพล เพ็งส้ม เป็นตัวแทน ส่วน น.ส.ศรีนวล มอบหมายให้ น.ส.พิชญา ใจสมุทร
ทั้งนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มอบหมายให้นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยโดยนายวิรุฬห์ อ่านคำวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้
ประเด็นที่ 1 สมาชิกภาพส.ส.ของน.ส.ปารีณา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา101(7) ประกอบมาตรา 185 (1) หรือไม่นับแต่เมื่อใด
ประเด็นที่ 2 สมาชิกภาพส.ส.ของน.ส.ศรีนวล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (2) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
ศาลพิจารณาแล้วประเด็นที่ 1 ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ผู้ถูกร้อง1ได้เข้าร่วมประชุมกับข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี โดยแจ้งต่อที่ประชุมว่าจะกำชับประสานงานเร่งรัดการตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชุมชนโดยเร็วขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นเพียงการติดตาม เรื่องของประชาชนในพื้นที่อำเภอจอมบึง ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตเลือกตั้งของผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฎิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดกรณี จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องที่หนึ่งใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นส.ส. กระทำการ อันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงในเรื่องการปฎิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่น หรือพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 185 (1)
ประเด็นที่ 2 ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 62 ผู้ถูกร้องที่ 2 เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ที่ทำเนียบรัฐบาล และมอบหนังสือแจ้งปัญหาเรื่องที่พักของเจ้าหน้าที่ร.พ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ไม่เพียงพอให้ทางรัฐมนตรีได้รับทราบ เมื่อพิจารณาการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 2 โดยมติเอกฉันท์เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อ.จอมทอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเลือกตั้งของผู้ถูกร้องเพื่อให้รมว.สธ.ได้รับทราบเท่านั้น และไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใดของผู้ถูกร้องที่ 2 เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆของกระทรวงสาธารณสุข จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นส.ส.กระทำการอันมีลักษณะก้าวก่าย หรือแทรกแซง ในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบ ในการจัดทำโครงการใด ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่น หรือพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 185(2)