สสส.จับมือเครือข่ายเด็กเยาวชน จัดกิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ ชูแนวคิด “กับดัก...เยาวชน” เผชิญ 4 ด้าน เหล้า-พนัน-อุบัติเหตุ-คุกคามทางเพศ พร้อมปลุกสังคม และหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งล้อมคอก
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายเยาวชน อาทิ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม (Media Move) และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก จัดกิจกรรมเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ปี 2563 ภายใต้แนวคิด “กับดัก...เยาวชน” เพื่อปลุกกระแสสังคมมองปัญหาของเด็กเยาวชนที่ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง4ด้าน เหล้า-พนัน-อุบัติเหตุ-การคุกคามทางเพศ พร้อมกระตุ้นเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ภายในงานมีเสวนาหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยง...หายนะใกล้ตัวเด็ก เยาวชน” โดยมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 60 คนตามแบบ new nomal ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ทุกวันที่ 20 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ และในปีนี้สสส.และเครือข่ายเยาวชนจึงจัด กิจกรรมรณรงค์ ภายใต้แนวคิด“กับดัก เยาวชน” เพื่อสื่อถึงสิ่งที่เยาวชนต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง 4ด้าน ได้แก่ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การหลงอยู่ในวังวนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน และสุ่มเสี่ยงกับอุบัติเหตุ ทั้งนี้ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 เรื่องพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนอายุ15-19 ปี พบว่า มีแนวโน้มการดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11ในปี 2544 เป็นร้อยละ 13.6 ใน 2560 ซึ่งอายุเฉลี่ยของผู้ดื่มครั้งแรกเริ่มต้นดื่มเมื่ออายุ 20ปี
ทั้งนี้ วัยรุ่นชายเริ่มดื่มครั้งแรกเร็วกว่าวัยรุ่นหญิง เมื่อมีอายุ 19ปี และ 23 ปี ตามลำดับ ขณะที่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกของกลุ่มเยาวชน พบเฉลี่ย 13 คนต่อวัน บาดเจ็บราว 800 คน และบาดเจ็บสาหัสประมาณ 150 คน พิการ 7 คน ยานพาหนะส่วนใหญ่ 4 ใน 5 คือจักรยานยนต์ สำหรับปัญหาการพนันพบว่าเยาวชนเล่นพนันกว่า 3.6 ล้านคน และร้อยละ 28 อยากเล่นพนันออนไลน์ ส่วนปัญหาการคุกคามทางเพศ จากการสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560 ในหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบสูงถึง317 ข่าว เกินครึ่งเป็น กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปีถึงร้อยละ 60.6 ที่น่าตกใจคือผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน ส่วนกลุ่มผู้ถูกกระทำมากที่สุดคือนักเรียน นักศึกษา
“จากปัญหาดังกล่าว สะท้อนสถานการณ์กับดักเยาวชนได้ชัดเจน และเวทีวันนี้ได้มีเยาวชนมาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตจริง ยิ่งช่วยยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องจริงจังกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาคุกคาม ล่อลวง เยาวชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ก้าวพลาดผิด ให้เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่กลับไปสู่วังวนที่ดำมืดในจุดเดิม เราต้องทุ่มเทกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงในเด็กและเยาวชนให้มากกว่านี้” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นายเอ (นามสมมติ) อายุ18 ปี อดีตเหยื่อพนันบาคาร่า กล่าวว่า โตมาในยุคที่มีเว็บพนันออนไลน์ เพื่อนๆ รุ่นพี่ ต่างก็เล่น จำได้ว่าตนเข้าสู่วงจรพนันตั้งแต่16 ปี พนันที่เล่น คือ บาคาร่า เริ่มเล่นจากหลักร้อย เลยเถิดไปเป็นหลักพัน เงินที่ได้จากทำงานพาร์ทไทม์นำมาเล่นพนันจนหมด เล่นจนเป็นหนี้ ต้องหยิบยืมเงินไปทั่ว
“ตอนนั้นเหมือนผีพนันเข้าสิง ยิ่งเล่นยิ่งเสีย พอเสียก็เพิ่มเดิมพัน คืนเดียวหมดเงินกับบาคาร่า40,000 บาท ส่วนเงินที่เสียไปก็ยืมมา ตอนนั้นเครียดมาก บอกที่บ้านก็ไม่ได้ จึงตัดสินใจขายรถมอเตอร์ไซค์คันโปรดใช้หนี้ แต่ก็ใช้ได้แค่ครึ่งเดียว ต้องไปขอร้องเจ้าหนี้ผ่อนจ่ายส่วนที่เหลือ กว่าจะผ่านมาได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งนี้อยากฝากถึงคนที่กำลังเล่น หรือคิดจะเล่นพนันบาคาร่าและพนันอื่นๆว่าเราไม่มีทางชนะมันได้เลย เพราะเขาออกแบบมาให้เรามีแต่เสียกับเสีย อย่าเอาเงินและอนาคตมาเสี่ยงกับการพนัน” นายเอ กล่าว
นายบี (นามสมมติ) กล่าวว่า เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุ6ขวบ ดื่มหนักขึ้น ช่วงวัยรุ่นจะติดเพื่อน คึกคะนองไม่สนใจการเรียน ตั้งวงปาร์ตี้สังสรรค์ทุกวัน กระทั่งมีเหตุการณ์เกือบเอาชีวิตไม่รอด คือเมาแล้วขับรถจักรยานยนต์ไปรับแฟน ระหว่างทางมีคนตัดหน้ารถ จึงหักหลบไปชนเสาไฟ จากนั้นสลบไปนานกว่า8เดือน และขาหัก2ท่อน ต้องใช้เนื้อสะโพกมาปะที่ขา ใช้เวลารักษาตัวร่วม 2 ปี กว่าจะพูดคุยได้ปกติ อยากฝากเตือนสติวัยรุ่นว่า เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มันเปลี่ยนชีวิตเราได้ อย่าดื่มแล้วขับ ต้องมีสติ ใช้ชีวิตอย่าประมาท
นายซี (นามสมมติ) กล่าวว่า อยู่ในแวดวงสายแว้นมาตั้งแต่อายุ14ปี ชอบออกไปขับรถเป็นกลุ่มใหญ่ในเวลากลางคืน สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชุมชนเพราะเสียงดัง ยิ่งขับหนีด่านตรวจ หนีตำรวจยิ่งรู้สึกสนุก ท้าทาย เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าสิ่งที่ทำ มันสร้างความเดือดร้อน ทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ อยากเสนอว่า หากจะปราบเด็กแว้นให้หมดถนน คงทำได้ยาก สาเหตุที่เด็กต้องออกมาเพราะเขาไม่มีพื้นที่ ควรจัดพื้นที่ที่เด็กๆเข้าถึงได้สนุกได้ ตื่นเต้นได้ สร้างสรรค์ได้ แสดงออกตามที่ชอบได้มากกว่าการปราบ
นางสาวข้างกาย เอรียาสกุล เจ้าของเพจ “KhangGuy-ผู้หญิงที่ชื่อข้างกาย" จากเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่อวัยเด็ก สู่การเปิดเพจให้คำปรึกษาและผลักดันกฎหมายแก้ปัญหาข่มขืน กล่าวว่า ตนเคยเป็นเหยื่อจากการคุกคามทางเพศตั้งแต่อายุได้เพียง 4 ขวบ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา คนที่พยายามล่วงละเมิดทางเพศ ในนั้นมีอยู่คนเดียวที่เป็นคนแปลกหน้า นอกนั้นเป็นคนที่รู้จัก เป็นคนที่สนิท ตัวเราเด็กเกินกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร แล้วก็สื่อสารไม่ได้ นี่คือปัญหาของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มันเลวร้ายมาก ในความคิดตอนนั้น รู้สึกหมดสิ้น ไร้ค่า รับตัวเองไม่ได้ ตอนนั้นไม่กล้าแจ้งความ เพราะอาย และไม่อยากให้ครอบครัวเดือดร้อน ไม่สนิทใจจะคุยให้ใครฟังหรือขอความช่วยเหลือ จึงเข้าใจเหยื่อที่โดนกระทำแล้วไม่พูดไม่บอก
“ที่ตัดสินใจนำอดีตที่เก็บไว้มาตลอด15 ปี ออกมาเปิดเผย เพราะอยากเป็นกระบอกเสียง เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่สังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เกิดการผลักดันกฎหมายแก้ปัญหาข่มขืน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำคลิปเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาล ด้านการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ แต่ก็ยังไม่เคยคิดที่จะพูดถึงเรื่องนี้ แต่ที่ต้องออกมาพูดคือ อยากให้สังคมในอนาคตปลอดภัยมากกว่านี้ เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนอดีตของเราได้ แต่ถ้าตอนนี้เริ่มทำอะไรซักอย่าง มันจะเริ่มปรับเปลี่ยนไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากนี้สิ่งที่อยากให้สังคมปรับเปลี่ยน คือมีพื้นที่ให้เหยื่อออกมาพูดแบบที่ไม่โดนประณาม ขอความเห็นใจจริงๆ ไม่ใช่เราไปให้ท่า แต่งตัวโป๊หรือไม่โป๊มันไม่เกี่ยว มันอยู่ความคิดคนที่ถูกปลูกฝังมาจากครอบครัว สถานศึกษา และสังคม การสอนให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัวก็เข้าใจได้ แต่ผู้ชายก็ไม่ควรข่มเหงผู้หญิงเหมือนกัน” นางสาวข้างกายกล่าว