กสศ.จัดโครงการ“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” หวังสร้างโอกาสและเติมเต็มศักยภาพเยาวชนช้างเผือกสายอาชีพ สู่บุคลากรชั้นนำสายอาชีพเพื่อพัฒนาประเทศ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครขอทุนถึง 28 ก.ย.นี้
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา(กสศ.) เปิดเผยว่า โครงการ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” เป็นทุนแรกของประเทศไทยที่เติมเต็มโอกาสให้เยาวชนช้างเผือกสายอาชีวศึกษาที่มีศักยภาพให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ต่อเนื่องปริญญาโทและเอก ในสาขาที่ตอบโจทย์ประเทศ ทั้ง S-Curve New S-Curve และ STEM เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยเปิดรับสมัคร “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” ปี 2563 จำนวน 67 ทุน ซึ่งในรอบที่ 1 พบว่ามีผู้สนใจสมัครเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโอกาสที่น้องๆ จะสมัครขอรับทุน ดังนั้น กสศ.จึงได้ขยายเวลาเปิดรับสมัครในรอบที่ 2 ขอเชิญชวนน้องๆ เยาวชนช้างเผือก ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ สามารถสมัครขอรับทุนได้ด้วยตัวเอง รวมถึงสถานศึกษาอาชีวศึกษาสามารถเสนอชื่อศิษย์เก่า หรือสถานศึกษาที่เปิดสอนปริญญาตรีเสนอชื่อศิษย์ปัจจุบันก็เป็นอีกช่องทางสำคัญที่จะช่วยเข้าไปค้นหาเยาวชนช้างเผือกเพื่อสมัครรับทุน ซึ่งตอบโจทย์รัฐบาลที่ให้ความสำคัญ เพราะเป็นสาขาเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ
สำหรับ คุณสมบัติของผู้ขอรับทุน คือเยาวชนที่จบการศึกษาระดับ ปวช. หรือ ปวส. อนุปริญญา ในปีการศึกษา 2562 และกำลังเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ในหลักสูตรต่อเนื่องหรือเทียบโอน หรือ 4 ปี ใน 10 สาขาวิชาที่เป็นเป้าหมายหลัก คือ First S-Curve อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ , อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ,การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ , เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และ New S-Curve อุตสาหกรรมอนาคต เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม,การบินและโลจิสติกส์ ,เชื้อเพลิง ,ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร รวมถึง สาขาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ผู้สมัครต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 และอยู่ในลำดับไม่เกินร้อยละ 20 บนของสาขาที่จบการศึกษา , มีผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับชาติหรือระดับภาค , ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งนักศึกษา ครู อาจารย์ และสถาบันการศึกษา สามารถสมัครขอทุนได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 28 กันยายน 2563 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ทาง www.eef.or.th โทร.0-2079-5475 กด 4
“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุนนี้เป็นทุนแรกของประเทศไทยที่เติมเต็มโอกาสให้แก่เด็กช้างเผือกสายอาชีพ/อาชีวศึกษา สนับสนุนสร้างกำลังคนสายอาชีพเพื่อพัฒนาประเทศ โดยจากการสำรวจพบว่าเด็กด้อยโอกาสกว่าร้อยละ 80 คาดหวังอยากจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นหากเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับทุนการศึกษาก็มีแนวโน้มที่จะหลุดออกนอกระบบ ประเทศไทยจะสูญเสียทรัพยากรที่มีความสามารถไปอย่างน่าเสียดาย สอดคล้องกับข้อมูลเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส พบว่ามีโอกาสศึกษาต่อระดับสูงเพียงร้อยละ 5 หรือ 8,000 คนต่อรุ่นเทียบกับค่าเฉลี่ยของประชากรประเทศที่มีโอกาสถึงร้อยละ 30 เยาวชนช้างเผือกที่เป็นกลุ่มนักเรียนยากจน ต่างก็มีความฝันและมีศักยภาพ ดังนั้น “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” จึงเป็นการสานฝันและส่งเสริมเยาวชนสายอาชีพ/อาชีวศึกษาให้ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีและต่อเนื่องไปจนถึงปริญญาโทและเอก โดยไม่มีข้อผูกมัด ทุนจะครอบคลุมตั้งแต่ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าสนับสนุนโครงการและงานวิจัย รวมถึงค่าใช้จ่ายรายเดือน” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว
ด้าน ดร.ปานเพชร ชินินทร ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า ทุนนี้เป็นเหมือนการเติมเต็มให้กับนักศึกษาอาชีวะที่มีเส้นทางในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ให้ได้ศึกษาต่อในสาขาสนใจ ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและช่วยเหลือสังคมได้ กสศ. จะให้ทุนในระดับปริญญาตรีและส่งให้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาเอก ตามความสามารถในการเรียนซึ่งแตกต่างจากทุนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม จากการคัดกรองเด็กในรอบแรก เราเห็นสภาพเด็ก เห็นความยากจน เช่น เด็กคนหนึ่งเรียนคณะวิศวกรรมไม่มีทุนเรียน แม้จะกู้ กยศ. แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เขาต้องเก็บเศษขวดตามหอพักไปขาย เสาร์-อาทิตย์ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำไร่นา ตัดหญ้าเป็นอาชีพเสริม เพื่อหาเงินมาเป็นทุนในการเล่าเรียน เขาพยายามทุกทางเพื่อที่จะได้เรียน กว่าจะได้เรียนก็แทบแย่ “กสศ.จะคอยชี้แนะแนวทางและประคองช่วยเหลือให้เขาไปตลอดรอดฝั่ง และเห็นประโยชน์จากทุนที่เขาได้รับ สู่เป้าหมายปลายทาง คือการสร้างบุคลากรชั้นนำสายอาชีพให้กับประเทศ เนื่องจากประเทศไทยต้องการกำลังคนสายอาชีพ แม้ว่าจำนวนทุนจะไม่มาก ซึ่งในปีนี้มี 67 ทุน แต่เชื่อว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการสร้างกำลังคนสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ เราจะมีบุคลากรที่มาจากสายอาชีวศึกษาจริงๆ” ดร.ปานเพชร กล่าว