กสศ.เปิดแคมเปญ"มื้อนี้พี่เลี้ยง"ระดมความร่วมมือบรรเทาภาวะขาดสารอาหารของนักเรียนยากจนพิเศษหลังโควิด-19
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทุกด้าน นอกเหนือจากทุนเสมอภาคที่กสศ.ได้จัดสรรให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษกว่า 8 แสนคนๆละ 2,000 บาท ในภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 เพื่อบรรเทาอุปสรรคภาระค่าใช้จ่ายในการมาเรียน ซึ่งกสศ.ได้จัดสรรไปถึงเด็กๆแล้วนั้น ล่าสุด กสศ.ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนชั้นนำ เปิดตัวแคมเปญ “มื้อนี้พี่เลี้ยง” หนึ่งในโครงการระดมความร่วมมือพัฒนาระบบอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ เพื่อเร่งแก้วิกฤตขาดสารอาหารให้กับเด็กนักเรียนยากจนพิเศษราว 1 แสนคน โดยสาเหตุมาจากความยากจนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ปัญหานี้เป็นปัญหาสะสมจากความขาดแคลนของครอบครัว ภาวะความเร่งรีบในการประกอบอาชีพที่ทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาเตรียมอาหารที่มีโภชนาการที่ดีให้เด็ก รวมถึงการขาดความรู้ด้านโภชนาการ
“กสศ.ได้ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือระบบ iSEE ติดตามอัตราการเจริญเติบโตของนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้นประถมศึกษา–มัธยมศึกษาตอนต้น ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash-Transfer: CCT) หรือทุนเสมอภาค ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 โดยเปรียบเทียบน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์แสดงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 5-18 ปี ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษที่มีภาวะขาดสารอาหาร ราวหนึ่งแสนคน โดยเป็นนักเรียนยากจนพิเศษที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์อายุ (ผอม) จำนวน 46,053 คน (6.6 % ของนักเรียนยากจนพิเศษ) และน้ำหนักค่อนข้างน้อยจำนวน 54,108 คน (7.8 % ของนักเรียนยากจนพิเศษ) โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในระดับประถมศึกษา ราว 73% ”
นายสุภกร กล่าว นายสุภกร กล่าวว่า นักเรียนยากจนพิเศษที่มีภาวะขาดสารอาหาร ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพบมากที่สุดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส นครราชสีมา เชียงใหม่ บุรีรัมย์ และขอนแก่น เด็กกลุ่มนี้ประสบภาวะขาดสารอาหารเป็นระยะเวลานาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยากไร้ขัดสน การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการของครอบครัว และความเร่งรีบในการประกอบอาชีพส่งผลให้ผู้ปกครองไม่สามารถจัดสรรอาหารเช้าที่มีคุณค่าให้กับเด็กๆ ได้ ทำให้กระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งทางร่างกายและสติปัญญา รวมถึงประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง ซึ่งหนึ่งในภารกิจตามกฎหมายของกสศ. คือการเชื่อมโยงความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยที่ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารก็เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วย ทางกสศ.ยังได้ประสานข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของกสศ.และดูแลเรื่องนี้โดยตรง เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดและหาแนวทางช่วยเหลืออย่างยั่งยืนต่อไป
ผู้จัดการกสศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า แคมเปญมื้อนี้พี่เลี้ยง เป็นหนึ่งในโครงการระดมความร่วมมือพัฒนาระบบอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษของกสศ.ซึ่งมีทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน เข้ามาร่วมสนับสนุน ทั้งในรูปแบบแพลตฟอร์มการรณรงค์รับบริจาคออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรในรูปของเงินบริจาคและอาหาร ให้แก่กลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 100% ซึ่งจากระบบ isee รายงานว่ามีอยู่ราว 500 โรง ซึ่งโครงการนี้จะมุ่งไปยังโรงเรียนที่มีนักเรียนภาวะขาดสารอาหารจำนวนมาก เพื่อให้เด็กๆได้รับประทานอาหารเช้าที่มีคุณค่าตามโภชนาการตลอดปีการศึกษา 2563 เบื้องต้นจะส่งความช่วยเหลือไปยังนักเรียน 1,000 คนแรกที่อยู่ในภาวะวิกฤตก่อนขยายผลต่อเนื่อง นอกจากนี้กสศ. จะมีการสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่แท้จริงของทั้ง 500 โรงเรียนดังกล่าว ซึ่งอาจมีมิติปัญหาด้านอื่นๆของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดต่อไป