รศ.พญ.นฤชา อธิบายการวัดอุณหภูมิร่างกายส่วนที่น่าเชื่อถือสุด 3 จุดหลักๆ มองการวัดหาโควิด-19 จากฝ่ามืออาจคลาดเคลื่อน
กำลังกลายเป็นอีกประเด็นที่ชาวสังคมออนไลน์ถกเถียงพูดถึง กรณีภาพร้านสะดวกแห่งหนึ่งติดตั้ง "เครื่องวัดอุณหภูมิ" เพื่อวัดอุณหภูมิลูกค้าป้องกันโรคโควิด-19 แต่สิ่งที่ทำให้สังคมสงสัยคือ เครื่องนี้บอกชี้ให้วัดจาก "ฝ่ามือ" แทนที่จะวัดจาก "หน้าผากหรือบริเวณศีรษะ" อย่างที่ทุกคนคุ้นเคย
สำหรับข้อถกเถียงนี้ "รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน" แพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายไว้ว่า จากประสบการณ์การตรวจวัดอุณหภูมิภายนอกร่างกายจะวัดจาก 3 บริเวณหลักๆ คือ ศีรษะ ช่องหู รักแร้ เนื่องจากทั้ง 3 บริเวณเป็นส่วนที่มีการระบายอากาศออกได้น้อยสุด จึงทำให้วัดอุณหภูมิของร่างกายเสถียรสุด
แต่ถ้าวัดจากส่วนอื่นๆการหาค่าอุณหภูมิอาจมีแนวโน้มคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีอากาศจากภายนอกเข้ามาปะปนอาจทำให้จุดนั้นอุณหภูมิสูงหรือหรือต่ำกว่าปกติ "ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไปจับแก้วน้ำร้อนหรือเย็นอาจทำให้อุณหภูมิคลาดเคลื่อนได้"
ทั้งนี้ รศ.พญ.นฤชา มองว่าประเด็นเครื่องวัดอุณหภูมิจากฝ่ามือ แม้มีการปรับเพื่อให้รองรับกับฝ่ามือ แต่มีโอกาสผิดเพี้ยนได้มากกว่าการวัดจาก 3 จุดดังกล่าวข้างต้น
แพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจ ทิ้งทายว่า สำหรับผู้ที่สงสัยอาจติดโรคโควิด-19 เบื้องต้นต้องตรวจสอบว่าเข้าข่ายในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ แต่ถ้าไม่ก็อาจเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ถ้าคิดว่าอาจเข้าข่ายมีปัจจัยเสี่ยงสามารถไปตรวจหาโรคได้ที่โรงพยาบาล