THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

28 สิงหาคม 2563 : 15:56 น.

กสศ.ลงนามความร่วมมือ10 สถาบันผลิตและพัฒนาครูโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 “ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” ให้เป็นครูยุค 4.0 ที่เป็นทั้งครูและผู้นำชุมชน

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กสศ. กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมลงนามความร่วมมือกับ10 สถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 ด้วยแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” ในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน กับสถาบันผลิตครูทั้ง10แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม , มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี , มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา , มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี , มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ทั้งนี้ ต้องลงพื้นที่ไปค้นหาเด็กที่จะมาเรียนครูตามเกณฑ์ที่ กสศ. กำหนด ตามปัจจัยขั้นพื้นฐาน คือ 1. ปัจจัยด้านความยากจน ต้องมีรายได้เฉลี่ยรายครอบครัวไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน 2. เด็กทุนพร้อมกับผู้ปกครองต้องอยู่ในภูมิลำเนาอย่างน้อย 3 ปี 3. เกรดเฉลี่ยสะสม 5 เทมอ ไม่ต่ำกว่า 2.5 และ 4.ได้รับการค้นหาคัดเลือกโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีเป้าหมายปลายทางที่จะผลิตครูสู่โรงเรียนปลายทาง เพราะฉะนั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องมีความเฉพาะเจาะจง นอกจากมาตรฐานกลางแล้ว ต้องมีสมรรถนะเฉพาะของครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นครูยุค 4.0 ที่ต้องเป็นผู้นำชุมชนได้ด้วย สอนได้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษา สอนได้แบบคละชั้นและทุกสาขาวิชา

ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นในรุ่นที่ 1 มหาวิทยาลัยประสบปัญหาข้อมูลไม่ถึงเด็กและชุมชนที่เข้าไม่ถึงสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้เด็กบางคนที่ควรได้รับการสนับสนุนมากกว่าเสียโอกาส ดังนั้นวิธีที่ข้อมูลจะถึงเด็กได้ดีที่สุดคือโรงเรียนในพื้นที่ต้องให้คำแนะนำกับเด็กโดยตรง มหาวิทยาลัยจึงปรับกระบวนการดำเนินงานเชิงรุกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรามีฐานข้อมูลเดิมจากปีที่ผ่านมา ทราบพื้นที่ลักษณะของชุมชน รู้จักเครือข่าย โรงเรียน ผู้บริหาร สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือจะมีการประสานข้อมูลไปยังโรงเรียนพื้นที่ก่อน เพื่อให้ทราบหลักเกณฑ์ วิธีการ ให้ข้อมูลกับเด็กที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียนก่อนที่มหาวิทยาลัยจะประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันไม่เกิดปัญหาเด็กมารู้ข้อมูลเชิงลึกทีหลัง ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมามีเด็กถอนตัวในช่วงที่คัดมาอยู่ค่ายแล้ว เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้

ดร.วิชญา ผิวคำ อาจารย์ประจำสาขาประถมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ที่เข้าศึกษาในสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ปีการศึกษา 2563 มีจำนวนทั้งหมด 31 คน ทางคณะกำลังปรับหลักสูตรใหม่ เน้นการบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยร่วมกับคณะอุตสาหกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ออกแบบรายวิชาใหม่ให้เด็กได้เลือกเรียนตามความถนัด ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น มีความสามารถแตกต่างกัน ซึ่งเราได้ผลักดันให้เข้าชมรมตามความชอบ เพื่อคลายความกังวลลดปัญหาคิดถึงบ้าน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Shadow ติดตามเงาของครู นำเด็กลงพื้นที่ชุมชนดูการทำงานของครู เพื่อปลูกฝังการรักถิ่นเกิด การทำงานร่วมกับชุมชนให้มากขึ้น โดยหลอมรวม “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ให้เชื่อมโยงกัน

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ตอบโจทย์สำหรับเด็กที่ยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษามาก เห็นได้จากการลงพื้นที่สำรวจสภาพความเป็นอยู่ของเด็กมีการค้นหาเด็กอย่างเข้มข้นเข้าถึงตัวเด็กที่ยากจนในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้จากเสียงสะท้อนของผู้ปกครองที่ตัดพ้อว่า ถ้าลูกไม่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการนี้ จะไม่มีโอกาสเรียนต่อ และศูนย์พัฒนาสังคม ที่มองว่าโครงการตอบโจทย์ได้ดี ชุมชนชนบทจะได้มีครูที่อยู่ในท้องถิ่นจริง ลดปัญหาครูโยกย้าย ทำให้เห็นว่าโครงการนี้สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง หากทำอย่างต่อเนื่องเชื่อว่าการศึกษาของโรงเรียนในชุมชนจะพัฒนาขึ้นมากอย่างแน่นอน” ดร.วิชญา กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ