ชมรมครอบครัวสุขใจดึงพลังชุมชนมาเป็น “ครูผู้เอื้อ” ชวนคนติดสุรามารวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนประสบการณ์พิษร้ายสุรา จนกลับใจบำบัด ลด ละ เลิกคืนสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ครอบครัว
น.ส.รักชนก จินดาคำ หัวหน้าโครงการการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 20 - 21 ส.ค.ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการประชุมเชิงปฏิบัติการอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครและผู้นำชุมชนในการดูแลผู้มีปัญหาสุราในรูปแบบกลุ่มชมรมครอบครัวสุขใจ (Family Clubs) เพื่อพัฒนาศักยภาพ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้มีปัญหาสุราให้ ลด ละ เลิก โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับครอบครัว ชักจูงและโน้มน้าวผู้มีปัญหาสุราเข้าร่วมกิจกรรม “ชมรมครอบครัวสุขใจ” ทางเลือกใหม่สำหรับบำบัดสุรา ซึ่งเป้าหมายสูงสุดไม่ได้ต้องการให้เลิกขาด แต่ต้องการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวให้เกิดขึ้นจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับลดระยะเวลา และ ปรับลดปริมาณการดื่มจนหยุดดื่มได้ในที่สุด
ทั้งนี้ “ชมรมครอบครัวสุขใจ” ต้องการให้อาสาสมัคร และ ผู้นำชุมชน ดึงครอบครัวผู้มีปัญหาสุรามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึก เกิดเพื่อนร่วมปัญหา และได้รับรู้พิษร้ายของสุรา รวมถึงแนวทางไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเพื่อนสมาชิกครอบครัวอื่นในกลุ่มได้มีทางเลือกในการบำบัด จากเดิมต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพังปราศจากความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวและชุมชน นับเป็นการส่งเสริมการสื่อสารภายในครอบครัวเกิดความรักความเข้าใจที่ดีต่อกัน และ เป็นกลไกเชิงพื้นที่ระดับชุมชนในการแก้ปัญหาสุราอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
น.ส.รักชนก กล่าวว่า ปัญหาสุราในประเทศสถานการณ์รุนแรง เนื่องจากพบว่า เด็กไทยเริ่มฝึกดื่มสุราตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ตัวเลขคนติดสุราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปัญหาสุราในชุมชนยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะ ผู้ดื่มสุราในระดับที่มีปัญหา หลายราย ไม่คิดว่าการดื่มของตนเองส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ของครอบครัว หรือ ชุมชน สถานที่บำบัดและบุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานด้านสุขภาพล้นมือ มีข้อจำกัดในการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาสุรา จึงทำให้คนติดสุรากลายเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาเชิงพฤติกรรมและบางรายอาจมีอาการจิตเวชร่วมด้วย จำเป็นต้องพัฒนาวิธีการและทางเลือกใหม่เข้ามาช่วยเหลือ ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงนำแนวทาง ชมรมครอบครัวสุขใจ มาช่วยเหลือและให้คำปรึกษา
อย่างไรก็ตาม มีการดึงผู้นำชุมชนเข้ามาทำหน้าที่เป็น “ครูผู้เอื้อ” โน้มน้าวสมาชิกในชุมชนที่มีปัญหาสุรามารวมกลุ่ม เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากสุรา ทั้งปัญหาสุขภาพและและผลกระทบอื่นๆพร้อมกับแนะนำวิธีบำบัด ลดอาการอยากดื่มจากประสบการณ์ตัวเอง หรือ จากเพื่อนร่วมกลุ่ม รวมถึงการสร้างบรรยากาศจากการพบปะกันให้เกิดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ลด ละ เลิกการดื่มสุราระหว่างกัน โดยมี “ครูผู้เอื้อ” ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพจากทางโครงการฯ จะคอยเป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดกิจกรรมกลุ่ม มีการติดตามความก้าวหน้า อย่างต่อเนื่องจนสมาชิกในกลุ่ม ลด ละ เลิกได้ในที่สุด
นางภรภัทร สิมะวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ ทีมวิทยากรผู้ให้การอบรม กล่าวว่า ปัญหาสุราแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่มีปัญหาติดสุราเพราะมีปัญหาครอบครัว บางพื้นที่มีปัญหานักดื่มหน้าใหม่ บางพื้นที่มีปัญหาเรื่องความคิดความเชื่อว่างานบุญหรืองานประเพณีในชุมชนต้องจัดเลี้ยงสุรา ดังนั้นบทบาทผู้มีปัญหาสุรา ครอบครัว และ ชุมชนต้องทำงานร่วมกันผ่านกลไก ชมรมครอบครัวสุขใจ ย่อมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกได้
สำหรับ คุณสมบัติ “ครูผู้เอื้อ” คือ สามารถรวมกลุ่มผู้มีปัญหาสุราให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์จนเกิดปัจจัยบำบัดจิตเวชระหว่างกัน ติดตามสมาชิกในกลุ่มอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสุราจนสมาชิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และ สามารถกระทุ้งให้เกิดนโยบายสาธารณะ ลด ละ เลิก สุราในชุมชน รวมถึงต้องมีความเชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการ และ เทคนิคการสื่อสารกับผู้มีปัญหาสุรา พร้อมกับนำแนวทางการติดตามประเมินผลความสุขและคุณภาพชีวิตครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ