กสศ.ติดตามความคืบหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง หวังแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมคณะลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามความคืบหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี และเดินทางไปที่โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เพื่อเยี่ยมชมโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นโรงเรียนปลายทางที่นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นจะต้องกลับมาบรรจุเป็นครู
รศ.ดร.ดารณี กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้รับการแก้ไขแล้วระดับหนึ่ง กสศ.ได้สนับสนุนให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษา โครงการครู(ษ์)ถิ่นจะช่วยผลักดันและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท โดยการให้ทุนเรียนครูกับเด็กในพื้นที่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อจบการศึกษาจะได้บรรจุเป็นครูในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างครูคุณภาพให้เข้าไปจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ลูกหลานในชุมชนบ้านเกิด
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผอ.สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 มีเด็กด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับทุนและเข้าเรียนในปีการศึกษา 2563 จำนวน 328 คน ใน11 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ครอบคลุม 45 จังหวัด มีเป้าหมาย 2 ด้าน 1.สนับสนุนเด็กยากจนพิเศษระดับชั้นม.ปลาย ให้ได้เรียนครู เป็นทุนแบบให้เปล่าครบวงจรและ 2.ปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูในสถาบันอุดมศึกษา กสศ.ได้เตรียมงบประมาณไว้ช่วยเหลือเด็ก 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่นๆของเด็กรวมเดือนละ8,000 บาท ส่วนที่สองจัดสรรให้มหาวิทยาลัยใช้พัฒนาเด็กรายบุคคลและรายกลุ่มปีละ30,000 บาท/คน นอกจากนี้ยังมีงบกลางที่ร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยทั้ง 11 แห่ง
ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีคณะคุรุศาสตร์เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล โดยมีมหาวิทยาลัยคอยสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการ รวมถึงงบประมาณในการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะของนักศึกษา ส่วนการคัดกรองนักศึกษาเข้าโครงการจะใช้เกณฑ์ของ กสศ.ด้านความยากจน มีรายได้เฉลี่ยต่อคนในครอบครัวไม่เกิน3,000 บาทต่อเดือน และเกณฑ์มาตรฐานกลางของมหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษาต้องบรรจุทำงานเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิด ขั้นแรกจึงเป็นการคัดกรองเชิงคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้เด็กที่ดี มีความมุ่งมั่น ตั้งใจอยากจะเรียนครู รักเด็กและรักพื้นที่ของตัวเองสอดรับกับปรัชญามหาวิทยาลัย ที่มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยแท้จริง