สตรี 4 ภาครวมพลังก้าวสู่ change for good เพื่อให้สตรีเป็นพลังในการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ขณะที่ พช.มอบรางวัล 3 จังหวัด บริหารจัดการหนี้ที่ประสบความสำเร็จ
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย จัดโครงการ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก รุ่นที่ 1 -4 ที่อิมแพค เมืองทองธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพแก่กลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการสร้างพลังสตรีในการพัฒนาชุมชน และเพื่อให้สตรีเป็นพลังในการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ประกอบด้วย หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด 76 จังหวัด กรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 77 คน และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด (กพสจ.) จำนวน 76 จังหวัด เครือข่ายอาชีพจังหวัด กลุ่มอาชีพได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,733 คน โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 4 รุ่น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “สตรี Change for good”ว่า การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับสตรีที่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต้องมีการพูดคุยปรึกษาหารือกันภายในกลุ่ม เลือกสตรีที่มีความตั้งใจ มีศักยภาพมาเป็นสมาชิกกลุ่ม เลือกประกอบอาชีพในสิ่งที่ถนัด แต่ถ้าหากไม่ถนัดให้หมั่นศึกษาหาความรู้ เพิ่มทักษะอยู่เสมอ และต้องมีความรับผิดชอบ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การมีใจที่ตั้งมั่นและแน่วแน่ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของสตรีเองและครอบครัวดีขึ้น ด้วยความขยันหมั่นเพียร เช่น กลุ่มน้ำพริกปทุมทิพย์ของจังหวัดสิงห์บุรี ที่มีการบริหารจัดการกลุ่มกับความตั้งใจ ความสามัคคีภายในกลุ่ม ที่ต้องการให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อคนถึง 4,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ การบริหารจัดการหนี้ จำเป็นต้องมีการติดตามและการติดตามโดยการลงพื้นที่ก็ต้องอาศัยหลายปัจจัยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นในเป้าหมายของกองทุนฯ ของการติดตาม อธิบดี พช. ได้เน้นย้ำถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับนั้น เพื่อช่วยเหลือสมาชิกกองทุนฯ ให้สามารถมีศักยภาพในการชำระคืนเงิน และมีกำลังใจในการประกอบอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ซึ่งจากผลการบริหารจัดการหนี้ทั่วประเทศ มีจังหวัดจำนวน 46 จังหวัดที่สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ต่ำกว่าร้อยละ 10 ถึง 46 จังหวัด และต่ำกว่าร้อยละ 5 จำนวน 20 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในการบริหารจัดการหนี้สามารถบริหารจัดการหนี้ลดลงกว่าร้อยละ 5 พร้อมได้มอบประกาศนียบัตรให้กับจังหวัดที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการหนี้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยรุ่นที่ 4 มีจำนวน 3 จังหวัด (จังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา) จาก 20 จังหวัดที่ได้มอบประกาศนียบัตรไปแล้วในรุ่นที่ 2 - 3 ถือว่าเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกลไกการขับเคลื่อนในทุกระดับ รวมทั้งคณะทำงานติดตามหนี้ระดับอำเภอและจังหวัดที่ร่วมมือกัน รวมพลังบริหารจัดการหนี้เพื่อให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นแหล่งทุนของสตรีเพื่อสตรีทั่วประเทศต่อไป ซึ่งอธิบดี พช. เชื่อมั่นว่า การพูดคุยทำความเข้าใจและร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาที่ดีขึ้น ดังเช่น "Change for good" เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น