ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไทยมีความก้าวหน้า
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 8 ปีการก่อตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมาถึงความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับเครือข่ายด้านวัคซีนได้จัดทำพิมพ์เขียว (Blueprint) เพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประชาชนคนไทย โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 2,999.30 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ผอ.สถาบันฯ กล่าวว่า แผนงานงบประมาณข้างต้นครอบคลุมกิจกรรม 3 แนวทางที่ทำไปพร้อมกัน คือ 1.สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนให้กับนักวิจัยไทยภายในประเทศ 2.การทำความร่วมมือกับต่างประเทศ และ 3.การจัดซื้อจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาบุคลากรรองรับการวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศด้วย ทางด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น สถาบันฯ ได้ทำควบคู่กันคือได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเตรียมแนวทางให้สามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อผลิตและจำหน่ายได้ในเวลาที่ทันต่อสถานการณ์
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การเจรจาเพื่อร่วมทำการทดสอบวัคซีนในมนุษย์และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น สถาบันวัคซีนฯ อยู่ระหว่างทำข้อตกลงและแสวงหาแนวทางความร่วมมือกับประเทศชั้นนำในการพัฒนาวัคซีน ในส่วนการวิจัยพัฒนาต้นแบบในประเทศก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยสถาบันวัคซีนฯ ร่วมกับหน่วยงานให้ทุนทั้งในและต่างประเทศมีการสนับสนุนต้นแบบวัคซีน จำนวนทั้งสิ้น 6 แพลตฟอร์ม คือ ดีเอ็นเอ เอ็มอาร์เอ็นเอ ซับยูนิตโปรตีน วัคซีนเชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์ และอนุภาคเสมือนไวรัส
“วันนี้เรามีวัคซีนต้นแบบที่ผ่านการทดสอบในลิงจำนวน 1 ชนิด คือ ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านการทดสอบในหนูแล้ว 3 ชนิด คือ 1. ชนิดดีเอ็นเอ (DNA) โดยบริษัทไบโอเนทเอเชีย จำกัด 2. ชนิดดีเอ็นเอ (DNA) โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ 3. ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากพืช โดยบริษัทใบยา ไฟโต ฟาร์ม จำกัด นอกจากต้นแบบข้างต้น ประเทศไทยยังมีการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบที่อยู่ในระหว่างห้องปฏิบัติการอีกหลายชนิด ได้แก่ ชนิดซับยูนิต (subunit) ชนิดอนุภาคเสมือน (VLPs) ชนิดเชื้อตาย (Inactivated) และชนิดไวรัลเวคเตอร์ (Viral vector)” นพ. นครกล่าว
นพ.นคร กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนต้นแบบทั่วโลกที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาในสัตว์ทดลองและมนุษย์มีจำนวนกว่า 165 ชนิด จำแนกเป็น 2 กลุ่ม ตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนา คือ 1.วัคซีนต้นแบบที่อยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ (Clinical) จำนวน 26 ชนิด และ 2. วัคซีนต้นแบบที่อยู่ในระหว่างการทดสอบในสัตว์ (Pre-Clinical) จำนวน 139 ชนิด ส่วนในประเทศไทยมีผู้วิจัยวัคซีนต้นแบบรวม 6 หน่วยงานซึ่งมีทั้งรัฐและเอกชน ทั้งนี้การวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีความก้าวหน้าทั้งในระดับโลก และในประเทศ และคาดการณ์ว่าภายในกลางปีหน้า ประชากรจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นความท้าทายความสามารถของนักวิจัยทั่วโลก แต่ทุกคนต้องไม่ลืมการปฏิบัติตัว “การ์ดอย่าตก” ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)