โรงเรียนกำเนิดวิทย์คว้าแชมป์นวัตกรรมข้าวเหนียวยืดอายุแบตเตอรี่ หนุนผลงานสู่เวทีนานาชาติ เตรียมเดินหน้าซีซั่น3
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้มีการประกาศผลคัดเลือก โครงงานเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and Environment)” ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา (ปวช.) หรือเทียบเท่า ที่เข้ารอบ 5 โครงงานสุดท้าย ซึ่งจะได้รับประกาศนียบัตรและทุนการศึกษา รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ การคิดค้นนวัตกรรมโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจดสิทธิบัตรและพัฒนาผลงานในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. กล่าวว่า โครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยได้มีการขยายพื้นที่การรับสมัครนักเรียนและนักศึกษาจากทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจจากการร่วมส่งผลงานเข้าประกวดฯ เป็นจำนวน 158 โครงงาน และมีโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 30 โครงงาน โดยแบ่งออกเป็นภาคเหนือ 4 โครงงาน ภาคกลาง 7โครงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 โครงงาน ภาคตะวันออก 9 โครงงาน และภาคใต้ 4 โครงงาน ซึ่งมี 5 โครงงาน ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย
ทั้งนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Better life battery โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จากผลงาน การพัฒนาเเบตเตอรี่โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสี ผลิตจากข้าวเหนียว ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศ ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา50,000 บาท ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1ได้แก่ ทีม ต้นกล้าเปลี่ยนโลก โรงเรียนปราจีนกัลยาณี จากผลงาน แคปซูลเก็บน้ำใต้ดินให้กับต้นกล้า ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา30,000 บาท ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Fruit Guard โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จากผลงาน ปลอกเทียมห่อผลไม้ ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา20,000 บาท
ขณะที่ ทีมที่ได้รับรางวัลชมเชย ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา 10,000 บาท ได้แก่ ทีมPM 4.0โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร จากผลงาน การพัฒนาไฮโดรเจลจากไคโตซานและพอลิไวนิล แอลกอฮอล์สำหรับอนุบาลเมล็ดพันธุ์พืช และทีม รักษ์โลก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จากผลงาน การสังเคราะห์ขั้วไฟฟ้ากราฟีนออกไซด์ยึดติดด้วยอนุภาค นาโนเหล็กที่มี L-cysteine เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างกระแสไฟฟ้าของเซลล์ เชื้อเพลิงแบคทีเรีย โดย GPSC พร้อมที่จะสนับสนุนกลุ่มเยาวชนดังกล่าว ให้สามารถส่งผลงานไปแข่งขันในระดับเวทีนานาชาติด้านนวัตกรรมในต่างประเทศต่อไป
“การจัดทำโครงการดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จในการดำเนินงานปีที่ 2 ที่มีการส่งผลงานเข้าร่วมเป็นจำนวนมากจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ นับเป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโครงงาน และใช้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการ กระบวนการ ที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบ และมีโอกาสนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาได้จริง รวมถึงสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ท้องตลาดในเชิงพาณิชย์ เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) ทั้งนี้ในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัคร GPSC Young Social Innovator 2020 หรือ GPSC YSI ซีซั่น 3 ซึ่งมีความพิเศษมากกว่าปีอื่นๆ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณถ้วยพระราชทาน จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการตื่นตัวในการดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์วิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ที่ต้องมุ่งการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากร และพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น” นายชวลิต กล่าว
น.ส.กนก ศิริลัภยานนท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ทีมชนะเลิศจากผลงานการพัฒนาแบตเตอรี่โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสี ผลิตจากข้าวเหนียว กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีความสำคัญกับชีวิตเรามากโดยเฉพาะโทรศัพท์ที่ต้องใช้แบตเตอรี่ เนื่องด้วยการเรียนออนไลน์ก็มีความสำคัญ จึงคิดว่าต้องพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการให้ใช้งานได้นานขึ้น จึงได้คิดค้นการใช้งานแบตเตอรี่ชนิดใหม่ให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้นถึง3-4เท่า อยู่ได้นานถึง4วัน โดยการเลือกใช้ข้าวเหนียวเป็นขั้วแทนหัวของแบตเตอรี่ และได้พัฒนาข้าวเหนียวให้มีรูพรุนมากขึ้น มีคุณสมบัติใช้งานได้จริง ใช้ระยะเวลาในการคิดค้นนาน2ปี ทุกขั้นตอนได้ทำงานเองหมดจนพัฒนามาเป็นแบตกระดุม ต่อไปในอนาคตจะพัฒนาเป็นพาวเวอร์แบงค์ เพื่อรองรับอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ และยังได้เพิ่มมูลค่าของข้าวเหนียวให้กับเกษตรกรได้
น.ส.เมธาพร ลาหู่ และน.ส.วริศรา เดชผิว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปราจีนกัลยาณี จ.ปราจีนบุรี เจ้าของผลงานนวัตกรรมแคปซูลเก็บน้ำใต้ดินให้กับต้นกล้า กล่าวภายหลังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ว่า แนวคิดการริเริ่มผลิตโครงงานชิ้นนี้ เกิดจากที่ในชุมชนประสบปัญหาต้นกล้าที่ปลูกไว้ขาดน้ำแห้งตาย จนไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงพยายามแก้ไขปัญหาโดยนำวัสดุที่มีอยู่ในชุมชน เช่น กาบมะพร้าว กระถางต้นไม้ มูลกระบือ ยางพารา และแป้งเปียก มาทดลองผลิตเป็นแคปซูลเก็บน้ำใต้ดิน ผลปรากฏว่า ต้นกล้าที่ปลูกด้วยแคปซูลจะเหี่ยวช้ากว่าต้นกล้าที่ปลูกแบบปกติ 21วัน ส่วนการทดลองการรอดของต้นกล้าขนุน ผลปรากฎว่าต้นกล้าขนุนที่ปลูกโดยแคปซูลมีอัตราการรอด100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต้นกล้าที่ปลูกแบบปกติ เมื่อผ่านไป 35-42 วัน ต้นกล้ารอดตายแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้หน่วยงานต่างๆ สนใจที่จะนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดทางด้านการเกษตรต่อไป
น.ส.ผกาพรรณ ไชยวงษ์ โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนทีม Fruit Guard รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากผลงานปลอกเทียมห่อผลไม้ กล่าวว่า แนวคิดการทำโครงงานนี้เกิดจาก เห็นเกษตรกรไทยปลูกมะม่วงเป็นจำนวนมาก และนิยมแก้ปัญหาแมลงมารบกวน ด้วยการใช้สารเคมีและถุงเคลือบสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร รวมถึงถุงห่อมะม่วงที่ใช้เวลาย่อยสลายนาน จึงเกิดไอเดียทำถุงปลอกเทียมที่ผลิตจากหญ้า ปลายปอกเคลือบน้ำมันหอมละเหยเพื่อป้องกันแมลง ส่วนภายนอกเคลือบน้ำยางพาราป้องกันน้ำ ทั้งนี้หลังจากผลิตเสร็จได้นำตัวอย่างผลงานให้เกษตรกรทดลองใช้ พบว่าได้ผลดี สามารถป้องกันแมลงได้ 100 เปอร์เซ็น และย่อยสลายด้วยตัวเองได้ อีกทั้งต้นทุนการผลิตต่ำ จากนั้นได้ต่อยอดผลงานด้วยการทำคิวอาร์โค้ด เพื่อบอกที่มาของแหล่งปลูกมะม่วง อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ถือเป็นอีกก้าวความสำเร็จที่ได้พัฒนาตนเองในด้านความคิด ได้แสดงไอเดียและประสบการทำงานเป็นทีม