ประเทศไทยจับมือนานาชาติ ริเริ่มเครือข่ายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชวนทั่วโลกเดินหน้า AllFor Education หรือ ปวงชนเพื่อการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,กระทรวงมหาดไทย,UNESCO,UNICEF และ savethechildren จัดประชุมวิชาการนานาชาติ “เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปวงชนเพื่อการศึกษา” เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาจอมเทียน เป็นวันที่สอง หลังจากระดมสมอง 60 ยอดนักคิด ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา นักปฏิรูป ผู้กำหนดนโยบายที่มีอิทธิพลต่อวงการศึกษาทั่วโลก ร่วมหาทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลังวิกฤตโควิด-19 โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการประชุมในรูปแบบออนไลน์มากกว่า 2,500 คนจาก 79 ประเทศ
นายอิชิโร่ มิยาซาวะ ตัวแทนจากองค์กรยูเนสโกประจำประเทศไทย กล่าวอภิปรายหัวข้อ “เครือข่ายองค์กรนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาอัตราเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในระดับชั้นประถมและมัธยมต้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ถึงแม้จะมีความพยายามของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา ยิ่งเมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ การพูดคุยกันอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ จะต้องมีกฎหมาย มีพระราชบัญญัติที่ออกมาอย่างชัดเจน และที่สำคัญต้องมีงบประมาณที่ลงทุนกับเรื่องนี้อย่างคุ้มค่า มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นนวัตกรรมด้วย ซึ่งเครือข่ายความร่วมมือต้องช่วยกันคิดว่าถ้างบประมาณไม่มาก จะทำอย่างไรให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ได้จริง ต้องวัดผลได้ว่ามีความสำเร็จอะไรเกิดขึ้น ต้องสร้างความเสมอภาคและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นผ่านฐานข้อมูลและสถิติให้ได้
“ผมเชื่อว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในเรื่องนี้เพราะประเทศไทยเริ่มพูดเรื่องนี้แล้วมีหน่วยงานที่จะมาแก้ปัญหาโดยตรง ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นดาวส่องแสงให้ประเทศอื่นได้เห็น หากมองไปในทวีปเอเชีย ยังไม่มีองค์กรแบบ กสศ. เกิดขึ้น ทั้งๆที่มีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำสูง เราชื่นชมประเทศไทย และจากสถานการณ์โควิด ที่ดูเหมือนจะทำให้เด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น แต่ในทางบวกจะเป็นพลังให้การทำงานของ กสศ. กับภาคีเสริมพลังกันมากขึ้นที่จะขับเคลื่อนความเสมอภาค หลังจากที่ได้มีการหารือในเวทีนานาชาติ คาดหวังว่าจะเห็นนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำจาก กสศ. ตั้งแต่ตอนนี้ จนถึง 10 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และรัฐบาลประเทศอื่นๆ ดำเนินการตามประเทศไทยมากขึ้น” ตัวแทนจากองค์กรยูเนสโกประจำประเทศไทยกล่าว
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการการจัดประชุม วิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา กล่าวว่า เป็นความท้าทายในโอกาสครบรอบ 30 ปีปฏิญญาจอมเทียน ที่มีผู้นำการศึกษาทั่วโลกเกือบ 200 คน แสดงเจตนารมณ์อันแรงกล้าที่เป็นจุดกำเนิดของ คำว่า Education For All หรือการศึกษาเพื่อปวงชน ที่มุ่งเน้นให้การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กและเยาวชนทุกคนที่สามารถเข้าถึงและสำเร็จการศึกษาระดับประถมได้ 100% อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ แต่ทั่วโลกยังไม่สามารถขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ และเราเดินทางมาถึง 10 ปีสุดท้ายแห่งการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG17 ด้านการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่จะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2573 ทำให้ในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย และอยู่ในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 เป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน จึงถูกเปลี่ยนเป็น ปวงชนเพื่อการศึกษา หรือ All For Education
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำแก้ไขได้ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันเปลี่ยนแปลง ร่วมกันยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ การปรับปรุงแก้ไขกรอบกฎหมาย นำเทคโนโลยี นวัตกรรมการเงินการคลัง และการเก็บข้อมูลสารสนเทศช่วยให้เด็กๆเข้าถึงการศึกษามากขึ้น การพัฒนาแพลตฟอร์มการเข้าถึงการศึกษาแบบไร้พรมแดน การพัฒนาครู ที่สำคัญคือภาครัฐของประเทศต่างๆต้องให้ความร่วมมือเพิ่มการลงทุนสำหรับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
ด้าน นายโทมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หากจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ได้ เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการทางการศึกษา เพราะรูปแบบในปัจจุบันนี้ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็วตามที่เราต้องการเพื่อให้ถึงเป้าหมายของ SDG4 ได้ ขอย้ำว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนทั้งระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันรวมถึงในตัวของพวกเราเองด้วย นายชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการยูเนสโก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากปัญหาทั้งหมด ขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้ 1.มีกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค 2.มีทุนการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะ 3.มีสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ และ 4.มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง มีคุณภาพและแม่นยำ เพื่อนำเงินทุนที่มีไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่ นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า วันนี้หลายประเทศเริ่มแก้ปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษาได้ดีขึ้น แต่ตนมองว่า หากในอนาคต ทุกคนต่างมุ่งหวังที่จะให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดทั่วทั้งโลก จึงควรนำฐานข้อมูลที่แต่ละประเทศมีอยู่แล้วมาพัฒนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติ ซึ่งกสศ.เองได้ร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน จัดตั้งเป็นกองทุนกลางเพื่อทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงเครือข่ายในประเทศอื่นๆได้ในอนาคต