THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

28 มิถุนายน 2563 : 20:26 น.

.

โดย...อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com    

*******************************

วันนี้มีโอกาสได้ส่องเหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2506 ของ หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยรวมสภาพเป็นเหรียญปั๊มที่สวยมาก ผิวไฟอยู่ครบ ไม่ผ่านการใช้หรือการสัมผัสมาก่อนเลย พื้นเหรียญตึง

ตัวหนังสือเป็นแท่งคมชัด เอียงส่องจะเห็นตำหนิเส้นเสี้ยน,เส้นขนแมวบนพื้นเหรียญทำให้พิจารณาได้อย่างชัดเจน ที่ควรมีก็มีครบซึ่งเป็นจุดตายของเหรียญ ดูง่ายสบายใจแบบนี้เป็นเหรียญครูได้อย่างสบาย

เป็นธรรมชาติของเหรียญปั๊ม เมื่อปั๊มกระแทกเพื่อตัดเหรียญให้ขาดในคราวเดียว จะต้องปรากฏประกายบนพื้นเหรียญ หรือเส้นเสี้ยนที่เกิดจากแม่พิมพ์เป็นธรรมชาติ อย่างเหรียญนี้ด้านหน้าก็ปรากฏเส้นเสี้ยนกระจายอยู่ทั่วไป ด้านหลังก็เช่นกันนอกจากเส้นเสี้ยนแล้ว เอียงดูจะมีรอยเส้นรางๆ เหมือนวงเดือนทั้งด้านบน ส่วนด้านล่างเส้นจะวิ่งโค้งไปตามตัวหนังสือ นอกจากนี้แล้วตัวหนังสือจะต้องคมชัดเป็นแท่งชัดเจนครับ

มาเริ่มไล่ส่องจุดพิจารณาตั้งแต่ด้านหน้ากันครับ

-เส้นเสี้ยนเหนือศีรษะตามแนวขวางคมชัด

-มีเส้นขนแมวในลายกนก

-เส้นหน้าผากคมชัด

-เส้นเสี้ยนคมติดขมับด้านซ้ายเชื่อมกับลายกนกฝั่งซ้าย

-เส้นรอบขอบตาคมชัด

-ดวงตาคมชัดเป็นเม็ด

-เส้นขนแมวที่สังฆาฏิตามแนวตั้งและแนวขวาง

-เส้นขนแมวพาดจากตัว "อ"ไปจรดเส้นจีวร 2 เส้นขนานกัน

-คำว่ากษัต จะมีเส้นขนแมววิ่งผ่าน ไม้หันอากาศไปยังตัวอักษร"ต"

-อักษร "ช" ตอนล่างจะมีตำหนิ

-เหนืออักษร"ช"มีเส้นขนแมว 2 เส้น

มาดูตำหนิด้านหลังกัน

-เริ่มจากยันต์ตัวบนสุด ปลายยันต์จะบี้แบนชัดเจน

-พื้นเหรียญจะเห็นรอยวงเดือนบางๆ โค้งจากซ้ายไปทางขวาทางด้านบน

-พื้นเหรียญด้านล่างจะเห็นรอยวงเดือนบางๆโค้งจากซ้ายไปทางขวาตามแนวตัวหนังสือ

-มีเส้นขนแมววิ่งระหว่างตัวยันต์ฝั่งซ้ายบน

-ตรงยันต์ใบพัดจะมีตำหนิเนื้อเกินที่ตัวยันต์และมีเนื้อเกินที่ขอบด้านใน

-พื้นเหรียญเรียบตึง

หลวงพ่อเทียม ท่านเป็นพระเถระที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิปัสสนากัมมัฏฐาน และเป็นพระนักพัฒนาที่ได้รับความเลื่อมใสจากประชาชนพระนครศรีอยุธยา ท่านเริ่มต้นเรียนวิชาไสยศาสตร์แบบ ลบผง ลงยันต์กับอาจารย์ทรัพย์ ผู้เป็นลุงและนายสุ่นผู้เป็นบิดา พร้อมกับเรียนวิชาธาตุกสิณกับนายเงิน ผู้เป็นอา

เมื่ออายุ 20 ปีท่านได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกษัตราธิราช  เมื่อวันศุกร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด ตรงกับวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2467 โดยมี พระครูวินยานุวัติคุณ (มาก อินทโชติ) เจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราชเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษากรรมฐานกับหลวงพ่อสี วัดสนามชัย และ อาจารย์จาบ วัดโบสถ์ อำเภอมหาราช ,ศึกษาเพิ่มเติมกับอาจารย์เหม็ง วัดประดู่ทรงธรรม และหลวงพ่อม่วง วัดโบสถ์

หลังจากนั้นท่านมาที่วัดประดู่ทรงธรรมอีกครั้งเพื่อศึกษาวิชากสิณ และเริ่มเรียนวิทยาคม เช่น เป่า พ่น ปลุกเสกลงเลขยันต์ ตามตำหรับวัดประดู่ทรงธรรม หลังจากนั้นย้อนกลับมาวัดกษัตราธิราช  ท่านได้นำตำราพิชัยสงครามกับตำรามหาระงับพิสดาร รวมถึงตำราเลขยันต์ติดตัวมาด้วย

หลังจากนั้นไม่นานก็เดินทางไปศึกษากรรมฐานเพิ่มเติมอีกครั้งที่วัดวรนาถบรรพต (วัดเขากบ) นครสวรรค์ เมื่อศึกษาสำเร็จได้ตามที่ท่านตั้งใจแล้ว ท่านยังมาเป็นลูกศิษย์ ของก๋งจาบ ฆราวาสจอมขมังเวทย์ยุคเก่าสายวัดประดู่ทรงธรรมอีกด้วย

หลวงพ่อเทียม ท่านเป็นพระเถระที่ฝักใฝ่อยู่ในวิปัสสนาธุระ และมั่นคงอยู่ในเพศพรหมจรรย์

ตลอดชีวิตสมณะท่าน ท่านให้ความคุ้นเคยเป็นกันเองกับลูกศิษย์ทุกชนชั้น ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เพราะท่านมีความเมตตาให้แก่ลูกศิษย์ลูกหา ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลเมื่อมาพบท่านจะได้รับความเมตตาตลอด

อีกด้านหนึ่งท่านมีภาระต้องดูแลการบูรณะถาวรวัตถุภายในวัด ท่านจะใส่ใจดูแลสั่งการด้วยตนเอง และด้วยความที่ท่านต้องตรากตรำต่องานดูแลการบูรณะถาวรวัตถุภายในวัดนี่เอง จึงเป็นเหตุให้ ท่านเกิดอาพาธเป็นโรคอัมพาตขึ้นเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ.2517 จนท่านไม่สามารถจะไปไหนต่อไหนได้เหมือนแต่ก่อน

กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐินส่วนพระองค์ ณวัดศีลขันธาราม ตำบลอ่างแก้ว อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2517

ขณะนั้นหลวงพ่อเทียม ท่านจึงมอบให้พระสำรวย รองเจ้าอาวาส วัดกษัตราธิราช นำรูปจำลองของท่านพร้อมด้วยตะกรุดมหาระงับแบบพิสดาร ลงตามตำรับเดิมของวัดประดู่ทรงธรรม เป็นโลหะตะกั่วถักด้วยด้ายและลงรักปิดทอง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. ยาว 12 นิ้ว ขึ้นทูลเกล้าฯถวายแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยมีหนังสือกราบทูลถึงสาเหตุที่ไม่สามารถมาทูลเกล้าฯถวายด้วยตนเองได้ เนื่องจากอาพาธด้วยโรคอัมพาต จากนั้นไม่นาน ทางวัดกษัตราธิราชก็ได้รับแจ้งจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงทราบว่าเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราชอาพาธ

จึงมีพระราชประสงค์ จะนิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ต่อมาท่านจึงได้เดินทางเข้าไปรับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โดยเป็นคนไข้ ในพระบรมราชานุเคราะห์ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นเวลา 1 เดือน และหลังจากที่อาการดีขึ้นตามลำดับ คณะแพทย์จึงอนุญาตให้กลับมาพักผ่อนที่วัดตามอัธยาศัย

วัตถุมงคลของท่านนอกจาก เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2506 แล้ว ยังมีรูปหล่อโบราณเนื้อโลหะผสมชนวนยันต์รุ่นแรก พ.ศ.2508 จำนวน 1,000 องค์ ใต้ฐานหลวงพ่อเทียมได้จารคำว่า “เทียม” สร้างถวายโดยพระสมุห์อำพล วัดประสาทบุญญาวาส กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีพระนาคปรก พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์อโยธยา , พระกริ่งพระพทุธกษัตราภิมงคล , รูปหล่อรุ่นแรก, พระเนื้อผงพิมพ์โบราณ , พระขุนแผนเคลือบ, พระพิมพ์สมเด็จเนื้อผง ,พระปรกใบมะขามมหาสิทธิโชค และเหรียญรูปเหมือนอีกหลายรุ่น รวมถึง ล็อกเกต-รูปถ่าย-เครื่องราง , ตะกรุดอีกหลายแบบ

หลวงพ่อเทียม ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2447 ในรัชกาลที่ 5  มรณภาพ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2522 หลวงพ่อละสังขาร ด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 75 ปี 55 พรรษา

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ