THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

21 มิถุนายน 2563 : 16:09 น.

.

โดย...อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com   

*******************************

"พิมพ์ถูก เนื้อใช่ ความเก่ามี" เป็นสิ่งที่นักสะสมพระรุ่นเก่าใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาพระสมเด็จในเบื้องต้นครับ ปัญหาคือ ถ้าเราเป็นนักสะสมมือใหม่ จะเรียนรู้ได้อย่างไร มาเรียนรู้ด้วยกันครับ ทุกอย่างไม่เกินการเรียนรู้ วันนี้จะถ่ายทอดสิ่งที่เซียนพระรุ่นเก่าใช้เป็นเกณฑ์ในการส่องพระว่า เขาส่องดูอะไร มาดูตอนท้ายกันครับว่า หลักเกณฑ์การส่องพระเนื้อผงมีอะไรที่เราสามารถนำไปปรับใช้ได้

โชคดีครับที่วันนี้ได้พระสมเด็จจากนักสะสมมาให้ชม เป็น พระสมเด็จ วัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม ซึ่งเป็นพิมพ์ที่หาชมได้ยากมาก เพราะมีจำนวนน้อย ผิวพรรณขององค์พระเปิดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เห็นพื้นผิว มวลสาร ทำให้ดูง่ายทันที ขอบคุณ พี่กำพล รามอินทรา เจ้าของพระครับ

"เกศพุ่ม หน้าผากกว้าง คางแคบ หูประบ่า" นิยามคำนี้คือ เอกลักษณ์ของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม กล่าวคือพระเกศเป็นเส้นหนาป่องกลางเหมือนดอกบัวตูม มุ่นพระเกศหรือฐานรองของพระเกศจะเหมือนพุ่มเตี้ยๆ ส่วนพระเกศนั้นจะตั้งตรง อาจมีเอียงบ้างซึ่งเกิดจากการกดพิมพ์

พระพักตร์ของพิมพ์เกศบัวตูมจะมีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนพิมพ์อื่น คือพระพักตร์จะมีลักษณะหน้าผากกว้าง คางแคบเล็กน้อย ในองค์ที่กดพิมพ์ติดชัดจะปรากฏเส้นพระกรรณ(หู) ยาวประบ่าเหมือนหูบายศรี

เส้นซุ้มครอบแก้วจะหนาเหมือนพิมพ์ใหญ่คล้ายหวายผ่าซีก องค์พระจะล่ำสมส่วนโดยเฉพาะช่วงหัวไหล่ทั้งสองข้าง ใต้ฐานจะมีเส้นแซม มีเส้นฝ่าพระบาทยื่นออกมาจากใต้เข่า(เอกลักษณ์เฉพาะพิมพ์นี้)

ที่พื้นผิวพระต้องปรากฏรอยยุบ รอยหดตัว รอยแยก รอยรูพรุนเข็ม ไม่เรียบเสมอกันอันเนื่องมาจากความเก่าขององค์พระ

หลุมรอบเม็ดมวลสาร หรือที่เรียกว่าบ่อน้ำตา แสดงถึงความเก่าได้อายุ เพราะธรรมชาติของหลุมบ่อน้ำตาต้องใช้เวลา หลุมบ่อน้ำตาเกิดจากการหดตัวของเนื้อพระที่ไม่ผสานระหว่างมวลสารที่ละเอียดและมวลสารที่เหยาบเป็นก้อน หากมวลสารที่เป็นเม็ดหลุดกะเทาะออก บริเวณดังกล่าวก็จะเป็นหลุมตื้นขึ้นมา ที่สำคัญขอบหลุมต้องไม่คม มวลสารเม็ดพระธาตุที่ฝังอยู่ต้องยุบตัวลง และปรากฏรูพรุนรอยเข็มกระจายอยู่ทั่วไป รวมถึงคราบน้ำมันตังอิ๊วซึ่งเป็นตัวประสาน

ด้านหลังจะมีรอยย่น รอยหด มีรูพรุนปลายเข็มกระจายตัว รูพรุนปลายเข็มเกิดจากปฏิกิริยาของเนื้อพระในขณะที่ยังไม่สมานตัวแห้งสนิทและเกิดการระเหยของความชื้นสู่ภายนอกพื้นผิวองค์พระจึงเกิดเป็นรูพรุนเล็กๆขึ้น นอกจากนี้ยังมีรอยหดตัวตามกาลเวลาที่เรียกว่ารอยปูไต่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระสมเด็จวัดระฆัง

จุดพิจารณาด้านหน้าขององค์นี้

-ยอดเกศเหมือนบัวตูม อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์

-ใต้บัวตูมจะมีมุ่นมวยผม

-เส้นซุ้มครอบแก้วจะหนาและใหญ่เหมือนหวายผ่าซีก เสมือนสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่

-พระกรรณโค้งคล้ายหูบายศรีขวามือองค์พระ ( ในองค์ที่ติดชัด จะเห็นพระกรรณโค้งทั้งสองข้าง )

-ลำคอนูนตื้น(ไม่นูนมาก)

-บริเวณหัวไหล่จะหนาล่ำทั้งสองข้าง

-มีร่องสังฆาฏิกลางหน้าอก

-มีเส้นฝ่าพระบาทยื่นออกมาจากใต้เข่า

-มีเส้นแซมใต้องค์พระ พลิ้วไม่แข็งทื่อ

จุดพิจารณาด้านหลัง

-ลักษณะของด้านหลังองค์นี้เป็นหลังกาบหมาก รอยหด รอยย่นเป็นธรรมชาติ มีรูพรุนปลายเข็ม ทำให้ดูง่ายเป็นองค์ครูได้อย่างสบายใจ

-การหดตัวบนพื้นผิวตามธรรมชาติที่เรียกว่ารอยปูไต่ปรากฏตามขอบ

-ขอบข้างที่หลุดลุ่ยตามธรรมชาติแสดงถึงการตัดจากขอบด้านหน้ามาด้านหลัง

-ปรากฏมวลสารสีแดงที่สันนิษฐานว่าเป็นเศษอิฐพระกำแพงเพชร

จุดพิจารณาด้านข้าง

-ปรากฏรอยยุบเป็นโพรงตามธรรมชาติความเก่า ในโพรงจะมีคราบฝุ่นสะสม ปากโพรงจะไม่คม

-ร่องรอยการตัดจากด้านหน้าไปด้านหลัง

-รอยคราบของตัวประสานเช่นน้ำมันตังอิ๊ว

-ร่องรอยการหด การยุบตัวตามธรรมชาติ

เราต้องคิดอยู่เสมอว่า พระสมเด็จเป็นพระเก่าที่มีอายุมากกว่า 150 ปี ผ่านการสร้างมาเป็นเวลานาน ดังนั้น ผิวและเนื้อมวลสาร ตลอดจนริ้วรอยย่อมมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพตามธรรมชาติ เราต้องเริ่มต้นจากการศึกษาส่วนผสมหลักที่ใช้ในการสร้าง และคิดถึงความเป็นจริงของการเปลี่ยนสภาพเมื่ออายุมากถึง 150 ปีขึ้นไป

พิจารณา ถึงการเปลี่ยนแปลงของ พื้นผิว ด้านหน้าและด้านหลัง

-มีลักษณะเป็นคลื่น

-มีการยุบตัวตามธรรมชาติ มีการหดตัวของมวลสารที่แห้ง

-อายุของพระผิวควรจะแห้งสนิท ปราศจากความชื้นหรือไม่

-ปรากฏคราบไคลของความเก่าตามกาลเวลา

-ปรากฏคราบของตัวประสานเช่นน้ำมันตังอิ๊วที่ระเหยออกมาสู่ผิวชั้นนอกและสีของคราบน้ำมันตังอิ๊วควรเป็นอย่างไร

พิจารณา ถึงการเปลี่ยนแปลงของ สีของมวลสาร และเนื้อมวลสาร

-อาจจะมีหลายสี เช่นสีขาวน้ำซาวข้าว ขาวอมเหลือง และขาวอมน้ำตาล สิ่งเหล่านี้เกิดจากตัวประสานในองค์พระและทำปฏิกิริยากับมวลสาร เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของสี ซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่ใช่สีสดใสใหม่เอี่ยม

-เกิดจากส่วนผสมมวลสารที่ผสมในแต่ละครก เพราะสมเด็จพระพุทธาจารย์(โต) ท่านสร้างสมเด็จวัดระฆัง แบบสร้างไป แจกไป

-เนื้อหามีความหนาแน่น หรือหนึกนุ่ม

-สีของเนื้อพระต้องมีความขุ่นข้น ดูซึ้ง

-เนื้อแห้งสนิทเสมอกัน

พิจารณา ถึงการเกิดขึ้นของรูพรุนเล็กๆตามพื้นผิวพระ

-เกิดจากการหลุดร่อนของมวลสารที่ใช้ผสม อาจเป็นสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายไปตามกาลเวลา

-ลักษณะเกิดขึ้นเป็นหย่อม

ถ้าเป็นมวลสารเนื้อหยาบจะเห็นได้ชัดเจน ถ้าเป็นมวลสารเนื้อละเอียดอาจจะเห็นได้ไม่มากนัก

-ในรูพรุนที่เกิดขึ้นต้องมีความแห้งเก่าเหมือนกับพื้นผิวภายนอก และต้องมีคราบไคลความสกปรกและฝุ่นละอองเล็กๆเกาะภายใน

พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของ รอยแยก รอยแตกร้าว รอยกะเทาะ ในองค์พระ

-เกิดจากการไม่สมานตัวของมวลสารแห้งและเปียกที่เป็นส่วนผสม

-ในรอยแตกต้องปรากฏผงฝุ่นละอองเกาะอยู่

-เนื้อภายในต้องแห้งเก่าเหมือนเนื้อภายนอก

-และขอบริ้วรอยแยก รอยแตกต้องไม่มีความคม

พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของขอบพระด้านต่างๆ และขอบข้าง

-ขอบข้างพระเกิดจากการตัดแต่งด้วยของมีคม ตัดเนื้อส่วนเกินของพิมพ์หรือที่เรียกว่ารอยตอกตัด

-รอยตัดต้องมีความคม ทั้งสี่ด้านจะไม่ลึกเท่ากัน

-จะมีรอยยุบตัวไม่มากก็น้อย ต้องไม่เรียบเหมือนแผ่นกระจก

-จะเห็นเนื้อภายในกะเทาะหลุด และปรากฏคราบฝุ่นตามรอย

-ขอบรอยกะเทาะต้องไม่มีความคม

-เนื้อภายในรอยกะเทาะต้องมีความแห้งเก่าเหมือนเนื้อภายนอก

พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของการหดตัวและการรัดตัวของมวลสาร

-เกิดจากความเก่า การรวมตัวของมวลสารและตัวประสาน เมื่อเวลาผ่านไป เกิดการแห้งตัวดึงเอาเนื้อบนผิวภายนอกหดตัว ยุบตัวลงไป

-การยุบตัวของเส้นขอบซุ้ม หรือฐาน ต้องม้วนตัวเข้าหากันในแนวเส้นตั้งฉากกับพื้นที่ของผิว

-ถ้าเป็นพระใหม่ ลักษณะการม้วน จะไม่ม้วนเข้าหาแนวเส้นตั้งฉากของพื้นผิว

พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของความคมชัดของพิมพ์ที่พึงมีเมื่อกาลเวลาผ่านไป

-ต้องมีความคม ในส่วนที่ต้องคมชัด

-ต้องมีความตื้นในส่วนที่สมควรตื้น อย่าหลอกตัวเอง

-ไม่คมชัดและไม่ตื้นตลอดทั้งองค์

พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของคราบแป้งที่ปรากฏว่ามาได้อย่างไร เพราะอะไร

-เกิดจากการโรยแป้งรองพิมพ์ในแม่พิมพ์พระ เพื่อให้สะดวกในการนำพระออกจากพิมพ์

-เห็นการระเหยของตัวประสานจากภายในสู่ภายนอก ไม่เสมอกันทั้งองค์

-บางองค์อาจจะเหมือนกับนวลแป้งบนผิวมะม่วง

-มีความแห้งสนิท ไม่มีประกายเมื่อเจอแสงสว่าง

-ถึงจะล้างคราบแป้งไปแล้ว ก็จะเกิดขึ้นใหม่

พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักของพระ

-น้ำหนักขององค์พระเก่านั้นจะมีน้ำหนักถ่วงมือ

พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของกลิ่น อายุของพระมากกว่า 150 ปี กลิ่นควรมีหรือไม่อย่างไร

-พระใหม่มักจะมีกลิ่นของมวลสารและตัวประสาน และยังมีความชื้นอยู่ และจะไม่ปรากฏความเก่า

ด้วยหลักพิจารณาเหล่านี้ และฝึกสังเกตุจากรูปที่มีความคมชัดจากแหล่งที่เชื่อถือได้ จะทำให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติของพระสมเด็จวัดระฆังและอาจมีโอกาสที่ได้คอรบครองตามแต่วาสนาครับ

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ