กสศ.เปิด"โครงการพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน"ช่วยแรงงานนอกระบบรับผลกระทบโควิด-19
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.63 ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ และที่ปรึกษา กสศ. แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี2563” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานเน้นช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้อยโอกาส รายได้ต่ำ รวมถึงผู้ว่างงาน ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
ศ.ดร. สมพงษ์ กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการย้ายกลับถิ่นฐานจำนวนมาก โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานจะช่วยยกระดับทักษะให้กลุ่มแรงงานสามารถประกอบอาชีพ มีรายได้หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และเป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดทักษะ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ก่อนจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นการยกระดับชีวิตและคุณภาพการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ไม่ใช่เป็นลักษณะการเติบโตแบบทุนนิยมที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่การใช้ชุมชนเป็นฐานจะไม่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ แต่จะเกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรม และทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า กสศ.มีงบประมาณกว่า 131 ล้านบาทจัดสรรให้โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2563 แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ1.ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม และ2.ทุนพัฒนาทักษะอาชีพ เปิดให้ผู้ที่สนใจจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศยื่นขอรับทุนผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เกณฑ์การรับสมัคร กสศ.เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ/แรงงานฝีมือในชุมชน ผ่านหลักสูตรระยะสั้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทักษะเฉพาะอาชีพโดยปฏิบัติงานจริงในชุมชนหรือสถานประกอบการ 2.ทักษะการบริหารจัดการ 3.ทักษะชีวิตด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน
ขณะที่ ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และรับการคัดเลือกมาทั้งหมด 6,055 คน ครอบคลุมพื้นที่ 42 จังหวัด ทั้งสิ้น 74 โครงการพบว่าพื้นที่ปฏิบัติการระดับตำบลหรือเทศบาล มีทักษะสูงขึ้นและเป็นโมเดลทางธุรกิจโดยมีชุมชนเป็นฐาน คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้น