เครือข่ายภาคประชาชนเสนอจัดสรรงบให้ทุกจังหวัดเท่าเทียม เยียวยาทุกกลุ่ม หนุนลดค่าเทอมยกระดับพึ่งพาตนเองสร้างแหล่งอาหารมั่นคง
เมื่อวันที่ 28พ.ค.63 ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) จัดการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “จากบทเรียนโควิด-19 สู่นโยบายฟื้นฟูฯ ที่โปร่งใสและเป็นธรรม” ที่เดอะฮอลล์ กรุงเทพ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า คนไทยไม่ติดใจเรื่องการกู้เงินฉุกเฉิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่ปัญหาคือจะจัดสรรอย่างไรให้เม็ดเงินถูกใช้ไปกับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องและได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ที่ผ่านมาประเทศไทยทำได้แค่พอใช้แต่ยังไม่ถึงกับดีมาก เห็นตัวอย่างได้จากมาตรการแจกเงิน 5,000 บาทเป็นเวลาสามเดือน ซึ่งพบปัญหาเยอะและรัฐบาลยังประมาณการขนาดของปัญหาไม่ถูก ซึ่งคิดว่าสิ่งที่คนอยากจะรู้ก็คือ เราจะรอดจากภาวะก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร ตรงนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุด เพราะเรายังจะอยู่กับโควิด-19 ไปอีกหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี
"ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะส่งสัญญาณออกมาชัดเลยว่าจะเอาอย่างไร เพราะจะทำให้คนในภาคธุรกิจนั้นๆได้มีโอกาสปรับตัว ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจเกี่ยวกับสถานบันเทิง พูดชัดๆว่าจะไม่ให้เปิดภายในหนึ่งถึงสองปี คนที่ทำงานในสาขานี้ เขาจะได้ไปหางานใหม่ถ้ารัฐบาลไม่พูดให้ชัดและไม่มีแนวทางที่ชัดเจนสุดท้ายคนก็จะรอเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็กลับมาเปิดได้ตรงนี้จะทำให้คนปรับตัวได้ยาก นี่คือเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือต้องส่งสัญญาณกันให้ถูก" ดร.สมเกียรติ กล่าว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าในระบบสวัสดิการของรัฐควรให้ความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า คือบุคคลที่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรืออายุ18ปีขึ้นไปต้องได้รับความช่วยเหลือทุกคน ซึ่งหากรัฐนำตัวเลขข้าราชการ ผู้ประกันตนมาตรา 33เข้ามาช่วยคัดกรองจะทำให้ได้ตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่อยากเห็นการใช้เงินที่เป็นคำสั่งจากกระทรวงไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ควร จัดสรรเงินให้กับทุกจังหวัด ให้แต่ละจังหวัดเป็นคนบริหารจัดการ โดยมีองค์กรทุกภาคส่วนคอยติดตามการใช้จ่ายเงินนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านอาหาร และด้านอื่นๆอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้เห็นการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม และเงินส่วนที่เหลือจึงค่อยนำไปช่วยเหลือประชาชนอีกครั้ง
ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุด วัยทำงานกว่า7ล้านคนถูกเลิกจ้าง ต้องจับตาการกู้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน1ล้านล้านบาท อย่าตรวจสอบสิทธิเพียงแค่มีทะเบียนบ้านเท่านั้น ควรทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างสวัสดิการ สร้างเศรษฐกิจ อยากเสนอให้มีมาตรการลดค่าเทอม ลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทุกระดับชั้น มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำหรับคนกลุ่มเปราะบาง เพราะลำพังสายด่วน1300 คงไม่เพียงพอ
ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความมั่นคงทางอาหารชัดเจน ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีอาหารเพียงพอ สิ่งที่เห็นความช่วยเหลือจากภาครัฐคือ การแจกถุงยังชีพ ขณะที่ความช่วยเหลือต่างๆต้องผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านอาหาร ต้องยกระดับให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมให้รู้จักปลูกพืชผักสวนครัว สำหรับคนที่มีที่ดินทำกิน หรืออยู่ในพื้นที่จำกัด ส่งเสริมการปลูกผักในเมือง รัฐควรเข้ามาดูและพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ โดยมีชุมชนหรือเครือข่ายเป็นตัวเชื่อมโยง