THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

26 พฤษภาคม 2563 : 20:32 น.

กสศ.จับมือเอกชนเปิดสนามให้คนรุ่นใหม่เสนอไอเดียปฏิวัติการศึกษา สร้างนวัตกรเพื่อสังคมเปลี่ยนประเทศมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ บริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จำกัด จัดงาน “Education Disruption Hackathon 2” ภายใต้โครงการ StormBreaker Accelerator เพื่อสร้างโอกาสสำหรับผู้มีใจรักร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศ ร่วมแข่งขันพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาแห่งโลกอนาคต และแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันและผ่านคุณสมบัติ จำนวน 30 ทีม จาก 147 ทีมทั่วประเทศ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในฐานะผู้ให้การสนับสนุน Startup สาย Social Impact ในประเด็น “ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยว่า กสศ. มีความตั้งใจและมีความคาดหวังในการทำงานร่วมภาคเอกชนและ Startup โดยจะเห็นได้ว่าพื้นที่กว่า 75% กสศ. เปิดให้ภาคเอกชน คนรุ่นใหม่มาทำงานร่วมกับเรา เพราะการทำงานที่จะสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ต้องร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน โดย กสศ.มองลึกถึงคนรุ่นใหม่ ให้ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้มากขึ้น

ดร.ไกรยส กล่าวว่า บทบาทของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นนวัตกรเพื่อสังคม ซึ่งจะเป็นอาชีพที่มีความหมาย ต้องมีสิ่งสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.ความหวัง ที่ต้องเริ่มด้วย “หัวใจ” ที่มีความหวังมีสมองที่เข้าใจความจริง และโอกาสก็จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ กสศ.อยากเห็นความสามารถที่ท้าทาย จากน้องรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยการศึกษา ถ้าเรามีความหวัง สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยสมองและสองมือจะทำให้เป็นจริงได้ โดยการมาร่วมกันช่วย เสริม-เติม-ต่อ ตัดโซ่ความยากจนของรุ่นก่อน โดยใช้การศึกษาเป็นกลไกตัดวงจรความยากจนข้ามชั่วคน และส่งไม้ต่อซึ่งคือ “ความหวัง” ของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นได้ 2.ความจริง กล้าเผชิญความจริงที่แก้ปัญหาด้วยการเรียนรู้ โดยใช้ความหวัง ความจริงที่เกิดขึ้น เมื่อประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความจริงเรื่องความยากจนที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ มีช่องว่างความเป็นเมือง-ชนบท และกำลังเผชิญภาวะแก่ก่อนรวย ซึ่งเป็นกับดักที่ต้องแก้ด้วยนวัตกรรม ไม่ใช่เงิน 3.โอกาส ของนวัตกรเพื่อสังคมและความเสมอภาคทางการศึกษา ต้องมี 3 หลักการ 1.All for Education ด้วยการดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม เพื่อความยั่งยืน ด้วย 2. Game Changer ต้องทำงานด้วยหัวใจ 3. เกิดความยั่งยืนในการปฏิบัติงาน

“สิ่งสำคัญที่เป็นพิมพ์เขียวในการทำงาน บนความคาดหวังใน 3 องค์ประกอบ ความหวัง ความจริง โอกาส จะสำเร็จได้นวัตกรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ต้องทำงานโดยมีพื้นฐาน 5 step ได้แก่ 1.เลือกประเด็นการทำงานให้ถูกต้อง 2.เลือกพื้นที่การทำงานให้เหมาะสม 3.ลงพื้นที่จริง ทำงานกับ frontline ในพื้นที่ 4.สร้างภาคีเครือข่ายสู่เป้าหมายความสำเร็จร่วมกัน และ 5.วางแผนการขยายผลและพัฒนาความยั่งยืน โดยความสำเร็จที่ดีที่สุดคือการทำให้พื้นที่ ชุมชน สามารถสร้างความสำเร็จได้เอง”รองผู้จัดการ กสศ. กล่าว

นายเรืองโรจน์ พูนผล หรือ กระทิง ผู้ก่อตั้ง Disrupt Technology Venture โรงเรียนสอนนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ และผู้จัดการกองทุน 500 TukTuks กล่าวว่า จากที่ได้ร่วมเป็น Mentor ให้กับโครงการ “Education Disruption Hackathon 2” โดยการสนับสนุนของ กสศ.พบว่าผู้สมัครหลายทีมมีไอเดียตั้งต้นดีมาก โดยเฉพาะทีมที่ทำ Social Impact เช่น การสอน Coding ให้พ่อแม่แบบ Unplug โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งหลายครอบครัวในประเทศไทยไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ และพ่อแม่หลายคนกลัวการเรียนคอมพิวเตอร์ แต่เขาทำชุดความคิดที่สอนวิธีคิดสำหรับพ่อแม่ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการสนับสนุนการเรียนรู้ของลูก เป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสังคมไทยในปัจจุบัน หรือบางทีมต้องการสอน Digital Skill ให้กับนักเรียนอาชีวศึกษา เพราะเชื่อว่านักเรียนอาชีวศึกษาสามารถสร้างชาติได้ และสามารถสร้างทักษะที่จะนำไปสู่การเป็นแรงงานฝีมือ หรือเป็นพนักงานที่ชาญฉลาด (Knowledge Maker) ตอบโจทย์แรงงานในอนาคต

“การที่ กสศ. เปิดโอกาสในการจัดเวทีเช่นนี้ จะช่วยให้เราได้ไอเดียจากคนรุ่นใหม่ และเป็นการสร้างชุมชนความคิดที่มี Mentor มาช่วยให้คำแนะนำ มีการแบ่งปันความคิดร่วมกัน และตีโจทย์ให้ถูกต้อง จึงเป็นโอกาสที่ผู้สมัครทุกคนได้รับการเรียนรู้อย่างเข้มข้น (Intensive Learning) ในระยะเวลาอันสั้น และช่วยให้แต่ละทีมลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ รวมถึงได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง (Immersive Learning) เรียนรู้พร้อมกับการลงมือทำ โดยได้รับความเห็นจาก Mentor และผู้เชี่ยวชาญในทันที และเป็นความเห็นที่ใช้ได้จริง นอกจากนี้ยังเป็นการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน (Collaborative Learning) ได้เรียนรู้จากไอเดียคนอื่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก” นายเรืองโรจน์ กล่าว

น.ส.จันทนารักษ์ ถือแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการโครงการ Education Disruption Hackathon 2 และโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านการศึกษา StormBreaker Accelerator กล่าวว่า งาน Education Disruption Hackathon ครั้งที่ 2 โดยการเปิดรับสมัครแบ่งออกเป็น 2 แทร็ก ได้แก่ Social Impact Track เน้นความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างผลกระทบ (Impact) เพื่อช่วยแก้ปัญหาการศึกษาได้จริง มุ่งเน้นกลุ่มคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือ เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมี 7 กลุ่มย่อย

ทั้งนี้ ได้แก่ 1.กลุ่มเด็กวัยแรกเกิดถึง 3 ปี 2.กลุ่มเด็กอนุบาล 3.กลุ่มนักเรียนประถม-มัธยมต้น 4.กลุ่มนักเรียน ม.ปลาย/ปวช 5.เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา 6.กลุ่มเยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไปหรือแรงงานรุ่นใหม่ และ 7.ครูที่สอนเด็ก เยาวชนด้อยโอกาส ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืน จำนวน 20 ทีม และ Scalable EdTech Track สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำ EdTech Startup ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยี โดยสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจที่มีโมเดลในการเติบโต สร้างรายได้ โดยสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมากได้ในอนาคต จำนวน 10 ทีม

“ประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษา เพราะปัจจุบันเราสร้างผู้ประกอบการนับพันราย มีแรงงานเฉพาะทางบางสาขาที่ขาดแคลน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนตกงาน เนื่องจากเรากำลังประสบปัญหา Skill Disruption ทักษะจากการศึกษา 35% ใช้ไม่ได้ทันทีเมื่อเรียนจบ และเมื่อเกิดโควิดยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นไปอีก เราจึงต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเราเชื่อมั่นในระบบนิเวศน์นวัตกรรม (Innovation Ecosystem) จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และเทคโนโลยี (Technology) ซึ่งจะช่วยทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นได้” น.ส.จันทนารักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้านกลุ่มนวัตกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานส่วนหนึ่ง ได้กล่าวแนะนำถึงเครื่องมือที่คิดค้นขึ้น และนำมาเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ โดยหวังว่าไอเดียเหล่านั้นจะได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอนาคตวงการศึกษาของประเทศ อาทิ ทีม Dynamic School ที่มากับสโลแกน ‘โรงเรียนแห่งการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด’ มุ่งเปลี่ยนความเหลื่อมล้ำให้เป็นแพสชั่น เปลี่ยนบริบทพื้นที่เป็นออแกนิคคลาสรูม เพื่อพัฒนาครูให้สามารถสนับสนุนเด็กให้ออกแบบอาชีพของตัวเองได้ ด้วยโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนชายขอบ ผ่านการอบรมสร้างครู และการออกแบบหลักสูตรการเรียนให้เปิดกว้างมากขึ้น เพื่อปูพื้นฐานให้เด็กประถมอ่านออก เขียนได้ และคิดเป็น 

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ