ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยหน่วยงานด้านวัคซีนในประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมผลิตวัคซีนโควิด-19
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยว่า ความพยายามพัฒนาวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยได้ผลทดสอบที่เป็นบวกในสัตว์ทดลองขนาดเล็กและเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบในสัตว์ทดลองขนาดใหญ่ หากการทดสอบได้ผลดีก็จะสามารถเริ่มกระบวนการทดสอบในคนต่อไป
นพ.นคร กล่าวว่า นอกจากพัฒนาการด้านการวิจัยวัคซีนโควิดข19 แล้วยังคงไม่เพียงพอ เพราะหากวิจัยได้ผลดีแต่ไม่มีโรงงานผลิต หรือโรงงานศักยภาพไม่เพียงพอจะทำให้ประเทศเสียโอกาสในการผลิตวัคซีนใช้เอง ดังนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจากหน่วยงานต่าง ๆ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและความพร้อมในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของหน่วยงานเครือข่ายด้านการผลิตวัคซีน จำนวน 4 แห่ง คือ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด โครงการจัดตั้งศูนย์เสริมสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพจากนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ องค์การเภสัชกรรม จ.สระบุรี โดยภาพรวมปัจจุบันหน่วยงานด้านการผลิตวัคซีนในประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานสำคัญเกือบครบวงจร
“การที่ประเทศจะต้องลงทุนและให้การสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามพิมพ์เขียว (Blueprint) เพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของคนไทยนั้น จะต้องนำศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน กำลังการผลิตและบรรจุ การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ผลิตในประเทศ” ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าว
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยยังมีการบ้านที่ต้องทำต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กันอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติที่ดำเนินการร่วมกัน หลายหน่วยงานจึงต้องบริหารจัดการโครงการอย่างเป็นระบบ และครอบคลุม การเตรียมแผนงานด้านกำลังการผลิต และการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ในขั้นตอนการพิจารณาทำการทดลองในมนุษย์ การขึ้นทะเบียนวัคซีนและการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ทั้งนี้หากเราลงทุนภายใต้ศักยภาพของประเทศที่มีอยู่ และสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด- 19 ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้โดยเร็วที่สุด ก็จะตอบโจทย์ของพิมพ์เขียวเพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประชาชนไทยได้อย่างแท้จริง