ศบค.เผยแนวทางผ่อนปรนมาตรการ เน้นกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตก่อน ให้มี 5 ข้อกำกับดูแลป้องกันแพร่เชื้อ พร้อมแบ่งลักษณะสถานประกอบการออกเป็น 4 ประเภท
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 63 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงในประเด็นการผ่อนปรนมาตรการให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ โดยมีเนื้อหาสรุปดังนี้
-ในที่ประชุมศบค. นายกฯได้ห่วงใยเรื่องผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่รายได้ลดลง จึงมอบนโยบายให้กำหนดระยะและแนวทางในการผ่อนปรนมาตรการเป็น 4 ระยะ ระยะที่หนึ่ง 25% ระยะที่สอง 50% ระยะที่สาม 75% ระยะที่สี่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ละระยะจะใช้เวลาทบทวนเป็นรอบเวลา 14 วันเป็นอย่างน้อย ตามระยะการฟักตัวของโรค
แนวคิดในการผ่อนปรนมาตรการ
-ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านอื่นมาประกอบ โดยยังคงร้อยละ 50 ของการทำงานที่บ้าน
วิธีการดำเนินการพิจารณา
-พิจารณาจากประเภทของกิจการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นลำดับแรก และทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย
-กำกับให้กิจกรรมต้องประกอบด้วย 1. การยกเว้นระยะห่างทางสังคมม 2. การวัดอุณหภูมิ 3. มีแอลกอฮอลฆ่าเชื้อหรือเจลล้างมือ 4. จำกัดจำนวนคนในกิจกรรมให้เหมาะสมต่อกิจกรรมและสถานที่และ 5. มีแอพพลิเคชั่นติดตามตัวหากเป็นไปได้ หรือมีการลงทะเบียน
-โฆษกศบค.ระบุว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ เร่งรัดการตรวจเชื้อให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และมีการใช้เทคโนโลยีติดตามเพื่อตรวจสอบกิจกรรมควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ
-ให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อควบคุม ทุกรอบ 14 วัน กรณีควบคุมได้ดีขึ้นสามารถผ่อนคลายมาตรการเพิ่มขึ้น และขยายพื้นที่ ส่วนกรณีไม่ดีขึ้นให้ระงับมาตรการผ่อนคลายในทันที
-อาจต้องให้สถานที่ประกอบการใช้กล้องซีซีทีวีไว้คอยตรวจตรา เช่น หากพบว่าเป็นแหล่งติดเชื้อ และ ตรวจสอบย้อนหลังพบว่าไม่ได้มีมาตรการดูแลก็เป็นเหตุให้สั่งปิดสถานบริการนั้นได้
-เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ในฐานะที่ปรึกษา ศบค. เสนอแนวทางการผ่อนปรนโดย แบ่งประเภทธุรกิจเป็น 4 ประเภท ได้แก่ สีขาว สีเขียว สีเหลือง สีแดง
-สีขาว คือความจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กในที่โล่งแจ้ง ร้านขนาดเล็กที่ควบคุมได้
-สีเขียว คือสถานที่ประกอบการขนาดเล็ก ติดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ติดแต่พื้นที่ไม่มาก สถานออกกำลังกายในกลางแจ้ง
-สีเหลือง เป็นพื้นที่ที่มีการติดเครื่องปรับอากาศ มีคนจำนวนมาก
-สีแดง เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงเช่นสนามมวย สถานบันเทิง ที่มีผู้คนแออัดจำนวนมาก
-โฆษกศบค.ระบุว่า ทั้งหมดเป็นหลักการที่นายกฯ เห็นชอบในที่ประชุมศบค. แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในรายละเอียด โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องจะมีการพูดคุยในรายละเอียดก่อนเสนอที่ประชุมครม.พิจารณา 28 เม.ย.นี้