การบูชาพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ ก็เพื่อผลทางพุทธคุณที่บูชาแล้วสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาดต่างๆ และแคล้วคลาดจากสิ่งอัปมงคล มีโชคให้ลาภนั่นเอง
โดย...อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
***********************************
ในยามที่โรคระบาดมาเยือนนักสะสมพระเครื่องต่างก็หาพระเครื่องและเครื่องรางต่างๆ ที่คิดว่าคุณวิเศษสามารถป้องกันและรักษาโรคระบาดได้มาบูชาติดตัวกัน วันนี้มาชมพระชัยวัฒน์หรือพระชัย รุ่นทองทิพย์ สร้างโดยเจ้าคุณศรี (สนธ์) วัดสุทัศน์ฯ ถือว่าเป็นพระชัยวัฒน์รุ่นสุดท้ายของท่านครับ
สำหรับ การพิจารณาด้านเนื้อหาองค์พระเมื่อส่องดูก็จะเห็น ผิวทองประกายแห้งตามองค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีคราบเบ้าแห้งเก่าตามซอกปรากฏชัดเจนที่ฐานบัวด้านหน้าและซอกแขน รวมถึงบริเวณสังฆาฏิ ด้านหลังก็ปรากฏคราบเบ้าบริเวณฐานและซอกแขนด้านหลัง รอยตะไบแต่งเก่าที่ใต้ฐาน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดพิจารณาได้เป็นอย่างดี หลังจากพิจารณาแล้วว่าพิมพ์ถูกต้อง
“ บันทึกจากหนังสือมรดกล้ำค่ากล่าวว่า มูลเหตุที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงสร้าง พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้นมีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ทรงเล่าว่า เมื่อพระองค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ ครั้งนั้นสมเด็จพระวันรัต (แดง) อาพาธเป็นอหิวาตกโรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่นเสด็จมาเยี่ยม เมื่อรับสั่งถามถึงอาการของโรคเป็นที่เข้าพระทัยแล้ว รับสั่งว่า
เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรคกินหายเป็นปกติพระองค์ จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จไปนำพระกริ่งที่วัดบวรนิเวศ แต่สมเด็จฯทูลว่า พระกริ่งที่กุฏิมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า จึงรับสั่งให้นำมา แล้วอาราธนาพระกริ่งแช่ น้ำอธิษฐานขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้ว โรคอหิวาต์ก็บรรเทาหายเป็นปกติ ส่วนจะเป็นพระกริ่งสมัยไหนพระองค์ท่านรับสั่งว่าจำไม่ได้ “
หลังจากที่ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ได้ทอดพระเนตรเห็นคุณวิเศษน่าอัศจรรย์ของพระกริ่งในขณะนั้นแล้ว จึงเกิดความสนพระทัย และทรงเริ่มศึกษาค้นคว้าตำราที่จะสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์เรื่อยมา จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้าง จนเจนจบ เมื่อจะมีการสร้างพระกริ่งขึ้นครั้งใด พระองค์จะถูกขอร้องให้เป็นผู้ชี้แจงการสร้าง และการหล่อ และวิชาต่างๆล้วนถ่ายทอดมาสู่ศิษย์เอกของท่าน คือ ท่านเจ้าคุณศรี( สนธ์ )นั่นเองครับ
การสร้างพระชัยทองทิพย์นั้นเริ่มจาก ท่านเจ้าคุณศรี( สนธ์ ) ท่านได้เททองหล่อพระประธานในพระอุโบสถวัดศรีจอมทอง (วัดตีนโนน) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 และถวายพระนามว่า พระพุทธศรีมงคลนิมิต
หลังจากหล่อพระประธานเสร็จ ยังมีเศษโลหะมวลสารชนวนเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ท่านจึงได้จัดการหล่อพระพุทธรูปขึ้นอีกองค์หนึ่งขนาดเล็กลงกว่าองค์พระประธาน เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 ถวายพระนามว่า หลวงพ่อทองทิพย์ พร้อมกับได้หล่อพระกริ่งทองทิพย์และพระชัยวัฒน์ทองทิพย์ขึ้นมาในคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นการหล่อครั้งสุดท้ายของท่าน เพราะท่านมรณภาพในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2495
ในคราวนั้นท่านได้จัดสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ขึ้นมา 3 แบบคือ
1.พระกริ่งทองทิพย์ เนื้อกลับ จำนวน 27 องค์ ซึ่งหล่อขึ้นเป็นการส่วนตัว บรรจุกริ่งในตัว 2 รู เนื้อไม่กลับดำสนิท ขึ้นเขียวขี้ม้า แต่งโดยอาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร ปาดก้น เป็นแอ่งเล็กน้อย
2.พระกริ่งทองทิพย์ รุ่นบ้านสร้าง ท่านได้จัดสร้างให้พระครูปลัดเปลื่อง เพื่อหาทุนสร้างโบสถ์วัดบ้านสร้าง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระกริ่งรุ่นนี้จะใช้เนื้อที่เหลือจากการสร้างพระพุทธศรีมงคลนิมิตร เป็นหลัก เนื้อจะออกเหลืองอมเขียวเล็กน้อยไม่กลับดำ ส่วนใหญ่องค์ที่ไม่แต่งก้นจะเรียบ จำนวนการสร้าง 358 องค์ บรรจุกริ่ง 2 รู พระครูปลัดเปลื่อง ถวายท่านเจ้าคุณศรีฯ ประมาณ 50 องค์ พระกริ่งรุ่นนี้ มักจะเรียกกันว่า พระกริ่งทองทิพย์,พระกริ่งทองทิพย์วัดบ้านสร้าง,พระกริ่งทองทิพย์ปลัดเปลื่องบ้าง
3. พระกริ่งทองทิพย์ รุ่นอาจารย์ฮั้ว ท่านสร้างให้อาจารย์ฮั้ว จำนวน 200 องค์ เทตันแล้วนำมาเจาะก้นเท่าแท่งดินสอ บรรจุกริ่ง เนื้อออกเหลืองอมขาว เพราะใส่ก้อนเงินพดด้วงมาก เพื่อนำไปสร้างโบสถ์ วัดแถวมีนบุรี แต่เจ้าอาวาสที่วัดนั้นไม่ยอมรับ อาจารย์ฮั้วจึงนำกลับ ภายหลังอาจารย์ฮั้วสิ้นบุญแล้ว อาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร ได้ 40 องค์ มาจากช่างวิทวัส พัฒนางกูร และนำมาเจาะก้น บรรจุพระผง 108 และเกศาของสมเด็จพระสังฆราช แพฯ ที่ก้น
และพระชัยวัฒน์หรือพระชัยทองทิพย์ จำนวน 3,000 องค์ โดยใช้แม่พิมพ์ตัวเดียวกับพระชัยวัฒน์ปี พ.ศ. 2483 ของสมเด็จพระสังฆราช(แพ) ข้อที่แตกต่างกันคือ พระชัยวัฒน์รุ่นทองทิพย์จะตื้นเบลอกว่า พระชัยวัฒน์รุ่นปี 83 และเนื้อพระจะเป็นเนื้อเดียวกับพระกริ่งทองทิพย์รุ่นบ้านสร้าง คือเหลืองอมเขียวไม่กลับดำ เพราะใช้เนื้อที่เหลือจากการสร้างพระพุทธศรีมงคลนิมิตร เป็นหลัก
ท่านเจ้าคุณศรี(สนธ์) ท่านเก่งในการคำนวณฤกษ์ยามตามหลักโหราศาสตร์ การเททองหล่อพระเครื่องจะเทตามห้วงเวลาของฤกษ์ที่ได้เท่านั้น ทำให้พระกริ่งและพระชัยที่ท่านสร้างมีพุทธคุณสูง สามารถแช่น้ำทำน้ำพระพุทธมนต์มาดื่มรักษาโรคได้ เหมือนสมเด็จพระสังฆราช(แพ)ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่าน
เรื่องราวของการสร้างพระกริ่งแต่โบราณนั้น อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้กล่าวในหนังสือ “กำเนิดพระกริ่ง” ตอนหนึ่งว่า “ อันที่จริงพระกริ่งก็คือ พระปฏิมาพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้านั่นเอง พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เป็นที่นิยมนับถือของปวงพุทธศาสนิกชนฝ่ายลัทธิมหายานยิ่งนัก ปรากฏพระประวัติอยู่ ในพระสูตรสันสกฤตสูตรหนึ่ง คือ พระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาราชามูลประณิธานสูตร ”
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระศากยมุนีพุทธเสด็จประทับ ณ กรุงเวสาลี สุขโฆสวิหาร พร้อมด้วยพระมหาสาวก 4,000 องค์ พระโพธิสัตว์ 36,000 องค์ และพระราชาธิบดี เสนาอำมาตย์ ตลอดจนปวงเทพโดยสมัยนั้นและพระมัญชุศรีผู้ธรรมราชาบุตร อาศัยพระพุทธภินิหารลุกขึ้นจากที่ประทับทำจีวรเฉลียงบ่าข้างหนึ่ง ลงคุกพระชาณุกับแผ่นดิน ณ เบื้องพระพักตร์ของพระสมเด็จพระโลกนาถเจ้า ประคองอัญชลีกราบทูลว่า
“ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าขอพระองค์โปรดประทานพระธรรมเทศนา พระพุทธนามและมหามูลปณิธานและคุณวิเศษอันโอฬารแห่ง ปวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อยังผู้สดับพระธรรมกถานี้ ให้ได้รับหัตถประโยชน์บรรลุถุงสุขภูมิ ”
ความสุขในกาลใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีสัตว์เหล่าใดที่ยากจนปราศจากอาภรณ์นุ่งห่ม อันความหนาวร้อนและเหลือบยุงเบียดเบือน ทั้งกลางวันและกลางคืน หากได้สดับนามแห่งเราและหมั่นรำลึกถึงเราไซร้ เราจักได้สิ่งที่ปรารถนาและจักบริบูรณ์ด้วยธนสารสมบัติสรรพอาภรณ์เครื่องประดับและเครื่องบำรุงความสุขต่างๆ
พระบรมศาสดาศากยมุนีพุทธเจ้า ได้ตรัสต่อไปว่า พรไภษัชยคุรุ มีพระโพธิสัตว์ผู้ใหญ่ 12 องค์ คือพระสุริยไวโรจนะและพระจันทรไวโรจนะ เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ช่วยของพระไภษัชยคุรุพระพุทะเจ้าเบื้องปลายแห่งประสูติ ทรงแสดงอานิสงส์ของการบูชาพระไภษัชยคุรุว่า “ผู้ใดก็ดีได้บูชาพระองค์ด้วยความเคารพเลื่อมใสแล้ว ก็เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปราศจากภัยบีฑา ไม่ฝันร้าย ศาสตราวุธทำอันตรายมิได้ยาพิษทำอันตรายมิได้ ฯลฯ” ในเวลาตรัสพระคาถา พระบรมศาสดาทรงพระทัยเข้าสมาธิ ชื่อ “สรวลสัตวทุกขภินทนาสมาธิ” ปรากฏรัศมีไพไรจน์ขึ้นเหนือพระเกตุมาลา แล้วจึงตรัสพระคาถามหาธารณี
พระไภษัชยคุรุ เมื่อยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งปณิธาน 12 ประการ ที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกายและใจ ทั้งให้มีชีวิตยืนยาว บางครั้งพระนามของพระองค์ได้รับการกล่าวถึงคือ พระหมอยา
ดังนั้น การบูชาพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ ก็เพื่อผลทางพุทธคุณที่บูชาแล้วสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาดต่างๆ และแคล้วคลาดจากสิ่งอัปมงคล มีโชคให้ลาภนั่นเอง