สมเด็จพระมหาธีราจารย์แนะใช้หลัก'ทาน-ศีล-ภาวนา'สู้โควิด-19 ย้ำอย่ากลัวจนขาดสติ หยุดสร้างความชิงชังสังคมต้องการกำลังใจ ขอคนไทยทุกคนเป็นผู้กล้าหาญ ละความเห็นแก่ตัวสามัคคี ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ขณะที่ สสส.ห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์ ทำชุดข้อมูลโควิด-19 เผยแพร่
เจ้าประคุณกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยและหลายประเทศทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติ จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 หลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติ คือ ทาน ศีล ภาวนา ถือเป็นหลักป้องกันด้วยความรู้รักสามัคคี 1.ทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ ความรู้ สติ ปัญญา เช่น การประกอบอาชีพอาจต้องปรับเปลี่ยนอย่างกะทันหัน หากช่วยเหลือกันได้ก็ร่วมกัน
2.ศีล คือการการประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ขอให้ร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยทั้งตนเองและผู้อื่น และ3.ภาวนา คือ พัฒนาจิตใจด้วยสติปัญญาใช้เหตุผลอย่างรอบด้าน ดูแลสุขภาพ และป้องกันตนเอง จงมีสติเพราะจะช่วยให้ไม่ตระหนก แต่เกิดความตระหนักในการดำเนินชีวิตกับภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ขอเพียงน้อมนำคำสอนของศาสนานั้นๆ มาปรับใช้ ศาสนิกชนทุกศาสนาย่อมได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน
“ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด จงเผชิญหน้ากับความกลัวด้วยสติ ใช้ปัญญาบำบัดความทุกข์ เพราะเราต้องอยู่ด้วยกันในบ้านเมืองของเรา เราจะไม่ทิ้งกัน ขอคนไทยทุกคนจงเป็นผู้กล้าหาญ ละความเห็นแก่ตัว หันหน้าสามัคคีปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรสาธารณสุขและภาครัฐ ยามนี้สังคมต้องการความเห็นที่เป็นประโยชน์ ต้องการกำลังใจ หยุดการสร้างความร้าวฉานชิงชัง จงประพฤติตนเป็นบัณฑิต รู้รักษากายใจให้พ้นจากโรคภัย ความทุกข์ยากที่เราเผชิญอยู่ ย่อมผ่านพ้นได้ในไม่ช้า”เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าว
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร กล่าวว่า ในภาวะระบาดของไวรัสโควิด-19 สสส.ได้ส่งเสริมให้พื้นที่วัดดำเนินการป้องกันไวรัสโควิด-19 ตามมติมหาเถรสมาคมที่ 158/2563 และตามประกาศป้องกันสำหรับสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดทำชุดความรู้ที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ เพื่อให้ความรู้และป้องกัน ภายใต้โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค สสส.สนับสนุนให้พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญ ในการเป็นผู้นำสังคมด้านสุขภาวะ ผลักดันให้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดการดูแลสุขภาพ รวมถึงจัดสภาพแวดล้อมของวัดให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพด้วย