THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

20 กุมภาพันธ์ 2563 : 11:16 น.

บุกสภาร้อง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค โวยธุรกิจน้ำเมาใช้โลโก้คล้ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงกฎหมายในน้ำดื่ม โซดา น้ำแร่ ยันเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ จงใจโฆษณาเกลื่อนเมือง เข้าถึงเด็กและเยาวชน ยุชง สคบ.ออกกฎหมายลูกปิดช่องมอ

 ที่อาคารรัฐสภา นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วย เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และกลุ่มเยาวชนกว่า 30 คน ยื่นหนังสือต่อ นายมานะ โลหะวณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านทางนายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อร้องเรียนกรณีธุรกิจเหล้าเบียร์ใช้ตราเสมือนหรือใกล้เคียงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จูงใจผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวว่า ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 และกฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงภาพสัญลักษณ์ เพื่อประกอบการโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2553 ได้กำหนดควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอาไว้อย่างชัดเจน แต่ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ดำเนินกลยุทธ์ทำการตลาดโดยออกตราสัญลักษณ์ และโลโก้ผลิตภัณฑ์ น้ำโซดา น้ำแร่ธรรมชาติ เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ซึ่งมีเครื่องหมายการค้า ที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สื่อสารการตลาด เพื่อประโยชน์ทางการค้าผ่านช่องทางสื่อ และกิจกรรมต่างๆ

“ปัจจุบันโลโก้ที่คล้ายเหล้าเบียร์ ถูกนำมาโฆษณาในร้านเหล้าผับบาร์ งานคอนเสิร์ต อีเว้นต่างๆ ขึ้นป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ทุกสื่อทุกพื้นที่ ยิ่งขณะนี้ผลิตเบียร์ ไร้แอลกอฮอล์ออกมาจำหน่าย มีโลโก้ตราใกล้เคียงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาตรา 32 เรื่องการโฆษณา ทำให้กฎหมายมีอุปสรรคขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถบังคับใช้ได้ ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อโฆษณาที่ฉ้อฉลนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นเด็กและเยาวชน 13-25 ปี จำนวน 1,000 คน ในปี 2561 โดยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พบว่า ร้อยละ 80 เห็นตราเสมือน แล้วมองเป็นตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพบเห็นในสื่อออนไลน์ ร้อยละ 32.43 เห็นจากโทรทัศน์ร้อยละ 24.68 ป้ายขนาดใหญ่(บิลบอร์ด)ร้อยละ 21.13 ป้ายไวนิล ร้อยละ 13.82 และ ป้ายไฟร้อยละ 6.81 ทั้งหมดนี้โฆษณาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการยากที่จะแยกแยะได้โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และงานวิจัยอีกชิ้นของ ผศ. ดร. บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ15 ปี ขึ้นไป จำนวน 2,500 คน ในช่วงปี 2560 โดยใช้ภาพตราเสมือนถึง 30 ภาพ เมื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยจะพบว่า กว่าร้อยละ 78 เห็นตราเสมือนตามภาพแล้วรับรู้ได้ถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อนั้น กว่าร้อยละ 85.37 มองว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและร้อยละ 30 เห็นว่าเป็นการจูงใจทางตรง ร้อยละ 48.9 เห็นว่าเป็นการจูงใจทางอ้อม”เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว

ด้าน นายคำรณ กล่าวว่า จากข้อห่วงใยดังกล่าว ทางครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการ ดังนี้ 1.ขอให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในด้านนี้ ร่วมตรวจสอบตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้ร่วมกันหามาตรการป้องกันไม่ให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จดทะเบียนสินค้าที่มีความคล้ายคลึงตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำมาโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สื่อสารการตลาดเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการค้าได้อีก 2.ขอให้คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ผลักดันให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา ห้ามมิให้ทำการโฆษณาหรือสื่อสารการตลาด โดยใช้ สัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่คล้าย เหมือนหรือเสมือนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 เพื่อปิดช่องว่างกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้ตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โฆษณาหลบเลี่ยงกฎหมาย

“ปัญหานี้คาราคาซังมานาน และนับวันธุรกิจยิ่งย่ามใจ ผลิตสินค้า ตราเสมือนน้ำเมาออกมามากขึ้น และโหมโฆษณาหนักขึ้น เหมือนลูกบอลที่อยู่กลางวงไม่มีใครกล้าจัดการ สุดท้ายผลกระทบก็ตกอยู่กับเด็กและเยาวชน เพราะยากมากจะแยกแยะได้ แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังมองเป็นตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันเลย สภาพการณ์แบบนี้ถ้าปล่อยไปมีแต่ฝั่งธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ สังคมแทบไม่ได้อะไรเลย เราจึงหวังว่าคณะกรรมาธิการจะช่วยเราในการปกป้องลูกหลาน จากการโฆษณาที่ฉ้อฉลไม่ตรงไปตรงมาและความเห็นแก่ได้ของบริษัทน้ำเมา” นายคำรณกล่าว

ขณะที่นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวภายหลังรับหนังสืิอร้องเรียนว่า ในฐานะที่เป็นคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคจะรับเรื่องร้องเรียนนี้ไว้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังหลักของประเทศ หลังจากนี้จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะ กมธ.เพื่อเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้รายละเอียดในโอกาสต่อไป

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ