.
โดย อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
วันนี้มีโอกาสได้ส่องพระสมเด็จของหลวงปู่ภู พิมพ์ 8 ชั้นแขนกลม องค์ที่ได้ส่องนี้ ถือได้ว่าเป็นพระที่ไม่ผ่านการใช้มาเลย ขาวสะอาด พื้นผิวแห้ง พื้นผิวมีการยุบตัวเป็นธรรมชาติ มีธรรมชาติความเก่าของเนื้อผงแก่ปูนซึ่งเป็นส่วนผสมหลักขององค์พระ
ด้วยความที่ท่านเป็นศิษย์เอกของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) พระเครื่องของหลวงปู่ภูท่าน
เนื้อหามวลสารส่วนใหญ่จะคล้ายกับพระเครื่องของสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) เพราะสร้างจากผงพุทธคุณ ผงอิทธิเจ ผงตรีนิสิงเห ผงมหาราช ผงปถมัง ผสมด้วยกระดาษฟาง ปูนขาว กล้วยทั้งเปลือก น้ำมันตังอิ๊ว เช่นกัน
หลวงปู่ภู ท่านได้นำมวลสารผงวิเศษทั้งห้าของสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) มาเป็นส่วนผสมในการสร้างด้วย เนื่องจากสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) ท่านได้มอบให้ ขณะที่มาพักอยู่ที่วัดอินทร์กับหลวงปู่ภู ในคราวที่สร้างพระสมเด็จบางขุนพรหม นอกจากนี้แล้วในส่วนผสมมวลสารจะมีมวลสารจุดน้ำเงินปรากฏอยู่ ซึ่งเซียนพระส่วนใหญ่ใช้เป็นจุดพิจารณาในการเช่าหาด้วย
มาดูจุดพิจารณาด้านหน้าของพระสมเด็จหลวงปู่ภู พิมพ์ 8 ชั้น แขนกลม
1.ซุ้มครอบแก้วด้านบนขอบจะสูงชัน เห็นพื้นด้านในลึกชัดเจน
2.มวลสารจุดน้ำเงิน
3.พระเกศเล็กยาวแหลม วิ่งชนยอดซุ้มครอบแก้ว
4.พื้นผิวแห้งธรรมชาติ
5.เส้นพระศอ เป็นเส้นคู่บาง วิ่งชนพระอังสา
6.มีเม็ดมวลสารผงวิเศษ
7.เส้นพระกรด้านขวาองค์พระจะโค้งน้อยกว่าเส้นพระกรด้านซ้าย
8.เส้นลำพระองค์สองเส้นจะจรดพระกรเล็กน้อย
9.ปลายฐานทุกฐานทั้งสองฝั่งจะเรียวแหลม
10.ฐานชั้นที่ 4 และฐานชั้น 5 ที่จะชิดกันมาก
11.ปลายฐานชั้นที่ 5 ฝั่งซ้ายองค์พระจะสั้นกว่าปลายฐานชั้นที่ 4
12.ฐานชั้นที่ 6 และฐานชั้น ที่ 7จะห่างกันมากกว่าฐานชั้นอื่นๆทั้งหมด
13.ฐานชั้นที่ 7 และฐานชั้นที่ 8 จะหนากว่าชั้นอื่นๆทั้งหมดและจะขนานกัน
ส่วนด้านหลังจะเป็นหลังเรียบ เมื่อส่องดูก็จะเห็นมวลสารจุดน้ำเงินกระจัดกระจายอยู่ในเนื้อองค์พระ
และด้านข้าง เมื่อพลิกดู การตัดขอบทำให้ดูเหมือนขอบองค์พระเป็น 2 ชั้น
พระเนื้อผงของหลวงปู่ภูนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์แซยิดแขนกลม พิมพ์แซยิดแขนหักศอก พิมพ์แปดชั้นแขนหักศอก พิมพ์แปดชั้นแขนกลม พิมพ์เจ็ดชั้น พิมพ์ลีลา พิมพ์ปิดตา พิมพ์พระสังกัจจายน์ พิมพ์ไสยาสน์ และพิมพ์ห้าเหลี่ยม เป็นต้น
ส่วนเครื่องรางมีตะกรุดไม้ครูอันลือชื่อ, ผ้ายันต์ ซึ่งท่านจะแจกให้เฉพาะศิษย์ใกล้ชิด ส่วนเหรียญโลหะก็จะมีเหรียญแซยิดฉลองอายุ 100 ปี ที่สร้างเป็นรูปเหมือนของท่าน และเหรียญเสมาใหญ่ พระศรีอริยเมตไตรย (หลวงพ่อโต) วัดอินทร์
บรรดาพระเครื่องและเครื่องรางที่ท่านสร้างขึ้นล้วนมีคุณวิเศษมากมาย พุทธคุณเรียกว่าครบเครื่องปรากฏต่อมีผู้ที่บูชาติดตัว แคล้วตลาดจากอุบัติเหตุ เมตตามหานิยม เป็นที่ยอมรับของวงการนักสะสมพระเครื่อง
มีเรื่องเล่าจากศิษย์ของท่านต่อๆกันมาว่า ท่านสร้างพระเครื่องตอนมาอยู่วัดอินทรวิหาร โดยจัดสร้างหลังจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ และหลวงปู่ใหญ่ได้มรณภาพแล้วเนื่องจากมีความสำนึกในจิตใจว่าจะไม่ทำอะไรแข่งกับครูบาอาจารย์
การสร้างพระเครื่องของท่านก็เพื่อหาทุนปฏิสังขรณ์หลวงพ่อโต วัดอินทร์ ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างไว้ได้เพียงครึ่งองค์ และท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็มามรณภาพลงเสียก่อน
หลวงปู่ภู เกิดที่หมู่บ้านวังหิน อ.เมือง จ.ตาก ตรงกับปีขาล พ.ศ.2373 และท่านได้มรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. 2476 ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา เวลา 01.15 น. สิริอายุได้ 104 พรรษา 83