"WWF ประเทศไทย" ระบุ จีนออกคำสั่งห้ามซื้อขายสัตว์ป่า หลังไวรัสโคโรนาระบาดในหลายเมือง เป็นสัญญาณให้ทั่วโลกตื่นตัวประเด็นการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
นายเจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลจีนประกาศห้ามซื้อขายสัตว์ป่าทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (26 มกราคม 2563) จนกว่าสถานการณ์ไวรัสโคโรนาระบาดจะยุติลง หลังจากมีรายงานว่าไวรัสชนิดดังกล่าวอาจแพร่จากสัตว์ไปยังมนุษย์ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ทำงาน หรือใช้ชีวิตในบริเวณใกล้เคียงกับตลาดสดใจกลางเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นจุดแรกที่มีรายงานการเกิดและระบาดของโรค
“การซื้อขายสัตว์ป่า นอกจากจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นยังทำให้เราเชื่อมโยงได้ว่า การบริโภคสัตว์ป่าอาจก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพ เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ การที่รัฐบาลจีนประกาศห้ามซื้อขายสัตว์ป่าถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกทาง ซึ่งหากมีการขยายผลในเชิงนโยบายต่อไปจะช่วยลดทอนปัญหาการค้าสัตว์ป่า และการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสัตว์ป่าที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้”
ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย WWF ประเทศไทยกล่าวอีกว่า จากงานวิจัยเรื่องบทบาทของประเทศจีนในประเด็นการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และคำตอบของรัฐบาลจีน (China’s Role in Wildlife Trafficking and the Chinese Government’s Response) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ระบุว่าเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างว่า จีนเป็นตลาดค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเมื่อเศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้น ความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า ซึ่งรวมถึงสัตว์ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
“ไม่ใช่แค่เรื่องของการแพทย์เท่านั้น แต่ในประเทศจีนยังมีความนิยมบริโภคสัตว์ป่า ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นการจุดประกายสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้บริโภค หยุดบริโภค หยุดซื้อขายสัตว์ป่า ซึ่งก็เท่ากับเป็นการหยุดยั้งการเกิดโรค และการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากสัตว์ไปสู่มนุษย์ด้วย”
ด้าน มาร์กาเร็ต คินนาร์ด หัวหน้าโครงการเพื่อสัตว์ป่า WWF ระบุว่า การตื่นตัวจากไวรัสโคโรนาในวงการสาธารณสุขจะเป็นการกระตุ้นให้ทั่วโลกสนใจเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้น
“เราควรยุติการคุกคามชีวิตสัตว์สายพันธุ์ที่กำลังตกอยู่ในอันตรายใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งบริโภคชิ้นส่วนของพวกมัน และสัตว์แปลกต่างๆที่ตกเป็นเป้าของการบริโภคเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ที่พิสูจน์ไม่ได้จริง”
ทั้งนี้ โครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายของ WWF ดำเนินงานโดยเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อยุติและหยุดยั้งธุรกิจค้าสัตว์ป่า ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติมีมูลค่าราว 7,800-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยมีตลาดรับซื้อขนาดใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย