THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

24 มกราคม 2563 : 16:07 น.

สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงผลแจงนับคนไร้บ้านครั้งแรก! ครอบคลุมทั้งประเทศ พบคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะเกือบ 3 พันคน กทม.มากที่สุด

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสรางเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดเวทีสาธารณะ “แถลงผลสำรวจแจงนับคนไร้บ้านสู่การขยายผลเชิงปฏิบัติและนโยบาย”

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ ปัจจุบันไม่มีฐานข้อมูลหรือตัวเลขคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะที่ชัดเจน สสส. ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายพัฒนาเครื่องมือและวิธีวิทยาแบบ One Night Count (ONC) หรือ The Point-in-Time (PIT) เพื่อสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศ โดยนำร่องในพื้นที่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น เมื่อปี 2558 ทั้งนี้การสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศ พบคนไร้บ้านทั้งหมด 2,719 คน เป็นเพศชายร้อยละ 86 และเพศหญิงร้อยละ 14  ช่วงอายุที่พบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 57 อยู่ในช่วงวัยแรงงานตอนปลาย (อายุ 40-59 ปี)

ทั้งนี้ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ร้อยละ 18 ซึ่งคนไร้บ้านสูงอายุมีสัดส่วนการอยู่คนเดียวมากที่สุด ร้อยละ 60 กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด ร้อยละ 38 รองลงมา คือ นครราชสีมา ร้อยละ 5 เชียงใหม่ ร้อยละ 4 สงขลา ร้อยละ 4 ชลบุรี ร้อยละ 3 ขอนแก่น ร้อยละ 3 และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า พบคนไร้บ้านในพื้นที่ของทุกจังหวัด ในแต่ละปีมีคนไร้บ้านที่เสียชีวิตในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านในแต่ละปีหรือประชากรที่อยู่ในภาวะไร้บ้านสะสมจะมีจำนวนที่มากกว่าตัวเลขการแจงนับ

นางภรณี กล่าวต่อว่า ผลการแจงนับครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เป็นพื้นฐานต่อการขับเคลื่อนและทำงานกับประเด็นคนไร้บ้านของ สสส. ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นการกระจายตัวของคนไร้บ้าน พบว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีจำนวนไม่มาก ดังนั้น สสส จึงมุ่งทำงาน 2 แนวทาง คือ จังหวัดที่มีจำนวนคนไร้บ้านมาก เน้นการขยายผลนวัตกรรมศูนย์พักคนไร้บ้าน ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนคนไร้บ้านไม่มาก สสส จะร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาชุดเครื่องมือและกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านโดยท้องถิ่น เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนได้

ด้าน นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า การสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญในเชิงองค์ความรู้และในเชิงนโยบาย เพราะในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยแทบไม่มีข้อมูลพื้นฐาน (baseline data) ของคนไร้บ้านในระดับประเทศเลย การแจงนับในครั้งนี้แม้จะเน้นการสังเกตจากภายนอกเป็นสำคัญ แต่ก็ทำให้เห็นว่าในแต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัดของประเทศไทย มีลักษณะทางประชากรของคนไร้บ้านที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตรม ยกตัวอย่างเช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนของคนไร้บ้านพิการที่เห็นได้ชัดมากกว่าสัดส่วนของทั้งประเทศเกือบหนึ่งเท่าตัว นอกจากนี้เป็นที่น่าสนใจว่าการแจงนับครั้งนี้พบคนไร้บ้านในทุกจังหวัดของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในจังหวัดขนาดเล็ก สะท้อนให้เห็นภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขยายตัวนอกจากเมืองใหญ่มากขึ้น ซึ่งข้อมูลพื้นฐานจากการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการออกแบบนโยบายและการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างเป็นระบบและมีความเหมาะสมกับลักษณะทางประชากรคนไร้บ้านในแต่ละพื้นที่

นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การสำรวจแจงนับครั้งนี้ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานถึง 86 องค์กร ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถื่น และภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ อันเป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจและความตระหนักต่อประเด็นคนไร้บ้าน ที่มีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาคนจน ทั้งนี้ คนไร้บ้านอาจมิใช่ปัญหาในตนเอง หากแต่ประเด็นที่สะท้อนให้เห็นหรือเป็นผลลัพธ์ของปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ​ โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม​ รวมถึงประสิทธิภาพของนโยบายด้านสวัสดิการ ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์มากขึ้นหากมีการสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านในทุกรอบ 1-5 ปี เพื่อชี้ให้เห็นควาเปลี่ยนแปลงทางประชากรคนไร้บ้าน กล่าวคือหากจำนวนตัวเลขคนไร้บ้านมีจำนวนสูงขึ้น ก็จะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาคนจนยังไร้ประสิทธิภาพ

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ