THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

21 มกราคม 2563 : 14:33 น.

ศาลรธน.ชี้ข้อบังคับพรรคไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ กกต.-ผู้เกี่ยวข้อง ควรแก้ไข ส่วนพฤติการณ์ “ปฏิกษัตริย์”ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอ

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบให้ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย

นายทวีเกียรติ อ่านคำวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาวินิจฉัยประเด็นเดียวว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ เมื่อพิจารณาตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบแล้ว กรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าการออกข้อบังคับ นโยบาย และสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากข้อบังคับ นโยบาย และสัญลักษณ์ของพรรคดังกล่าวมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองและไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 14(1) และมาตรา 15 (2)และ(3)นั้น เห็นว่าการออกข้อบังคับของพรรคการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเป็นหนาที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

โดยเอกสารและหลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องประกอบด้วยข้อบังคับพรรค ซึ่งจะต้องไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ นอกจากนั้นข้อบังคับพรรคจะต้องมีภาพเครื่องหมายของพรรค และนโยบายของพรรค ดังนั้นกระบวนการยื่นคำร้องของจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นจะต้องยื่นข้อบังคับพรรคพร้อมคำขอด้วย

ทั้งนี้ เมื่อนายธนาธรได้ยื่นคำขอจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ และนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของ กกต. ได้รับจดทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ และมีประกาศจัดตั้งพรรคในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กรณีนี้ย่อมแสดงว่าข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบและได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ให้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคได้

อย่างไรก็ตามถ้าปรากฏข้อเท็จจริงในภาพหลังว่าข้อบังคับของพรรคอนาคตใหม่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 14(1) และมาตรา 15 (2)และ(3) ก็เป็นหน้าที่และอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะรายงานไปยัง กกต.พิจารณา และมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับดังกล่าวได้ ซึ่งข้อเท็จจริงในกรณีนี้หาได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นแต่อย่างใด และผู้ถูกร้องทั้ง 4 คน ก็ไม่ได้มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากการจดทะเบียนจัดตั้งพรรค กรณีนี้จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังว่าการประทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 นั้นเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ

“การยื่นคำร้องของผู้ร้องนี้ คงเป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ร้องในฐานะพลเมืองที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และระบบการปกครองของประเทศ ดังนั้นข้อบังคับของพรรคอนาคตใหม่ที่ใช้ถ้อคำว่าหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนรายการคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองข้อ 6 วรรคสอง ที่กำหนดว่าพรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามหลักรัฐธรรมนูญ ซึ่งการใช้ข้อความในข้อบังคับของพรรคการเมืองควรให้ความชัดเจน ไม่มีความคลุมเครือ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ที่บัญญัติว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันอาจก่อให้เกิดความตกแยกระหว่างชนในชาติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 14(3) ได้ ซึ่ง กกต.มีหน้าที่และอำนาจที่จะพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับนั้นได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม เพื่อป้องกันความสับสน ขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น สมควรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป” นายทวีเกียรติ

สำหรับ กรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ มีพฤติการณ์แนวคิด ทัศนคติคลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก เป็นกระบวนการปฏิปักษ์ ปฏิกษัตริย์นิยม มีแนวความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทย โดยการแสดงความคิดเห็นทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ เช่นการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะชน การแสดงความคิดเห็นต่อการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าการพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้นถึงระดับที่วิญญูชนควรอาจคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อทำให้เกิดการล้มล้างการปกครอง

โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ แต่ข้อเท็จจริงที่รากฎในคดีเป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเตอร์เน็ต และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีพฤติการณ์หรือการกระทำตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใด จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ส่วนกรณีการกระทำอื่นใดของผู้ถูกร้องทั้ง 4 จะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นหรือไม่ จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนั้นอาศัยเหตุผลดังกล่าวข้องต้นจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 ไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ภายหลังรับฟังคำวินิจฉัย นายณฐพร ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า รู้สึกพอใจกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและเป็นคำตัดสินที่ถูกต้องแล้ว ถือว่าได้ทำหน้าที่สำเร็จแล้วในการรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และตนต้องการชี้ให้ประชาชนเห็นว่ามีบางพรรคการเมืองต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ต้องการกลั่นแกล้งพรรคอนาคตใหม่ เท่าที่ฟังศาลเองได้ให้พรรคอนาคตใหม่ไปปรับเปลี่ยนข้อบังคับให้เกิดความชัดเจนขึ้น ไม่ให้มีความคลุมเครือ เรื่องนี้กกต.ต้องเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการต่อในเรื่องนี้.

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ