อธิบดีพช.ติวเข้มข้าราชการเพื่อขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้มีความยั่งยืน ใช้เงินกู้จากโครงการเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้
เมื่อวันที่ 15 ม.ค.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรในการบริหารงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถสอดคล้องกับสถานการณ์ และมีทักษะการปฏิบัติงานที่จำเป็นเกี่ยวกับงานกองทุนฯ โดยมี ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศร่วมประชุม ณ โรงแรม ทีเค พาเลช แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นกองทุนที่ให้โอกาสกับสตรีในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีรายได้ช่วยจุนเจือครอบครัว หรือช่วยรับผิดชอบครอบครัว ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คือกองทุนที่เกิดขึ้นเพื่อให้สตรีเขียนโครงการประกอบอาชีพ ให้ได้เข้าถึงแหล่งทุนหรือเงินยืมดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงินสูงสุดโครงการละ 200,000 บาท เพื่อนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ หรือพัฒนาอาชีพผ่านการรวมกลุ่มของสตรีทั่วประเทศ
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งที่มาจากภายในของกลุ่มสตรีเอง โดยแนวทางการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเริ่มต้นจากความต้องการของสตรี บริหารจัดการด้วยสตรี ใช้มาตรการทางสังคมในการขับเคลื่อน และมีสตรี คือกำลังสำคัญ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหรือนำสังคม
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญต่อการจะมีอยู่ต่อไปของกองทุนคือ ต้องผนึกกำลังใน 3 ส่วน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่ดูแลเรื่องานกองทุนฯ คณะกรรมการกองทุนฯทุกระดับ และมวลสมาชิกสตรี 3 ส่วนนี้ต้องคิดได้และมีใจเมตตา อารี รักสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันดุจญาติมิตร สมาชิกสตรีต้องสร้างเครือข่ายซึ่งกันและกันที่เหนี่ยวแน่น โดยมีเจ้าหน้าที่/คณะกรรมการฯ ทำหน้าที่ในการสนับสนุน ส่งเสริมให้คำแนะนำในการช่วยพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาอาชีพ และสิ่งสำคัญเดินตามกฎระเบียบ กฏหมาย ให้ถูกต้อง
" การดำเนินการจึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายให้ถ่องแท้ จะทำให้ไม่ผิดกฎหมาย และช่วยเหลือสตรีให้มีอาชีพ มีงานทำ มีเงินทุน นำมาซึ่งรายได้ สิ่งสำคัญต้องมีใจ ใจที่เห็นถึงประโยชน์ และมีคุณธรรมที่ดี จะช่วยให้สมาชิกทุกคนช่วยเหลือกัน บอกกล่าวให้กำลังใจกัน สุดท้ายจะนำมาซึ่งการใช้หนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่เกิดหนี้เสียมาก กองทุนฯก็จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง นำมาซึ่งการเป็นกองทุนแห่งลมหายใจของสตรีที่ยั่งยืนเกิดประโยชน์สูงสุดจากกองทุนนี้"อธิบดีพช.กล่าว
สำหรับ บทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกคนคือ ต้องช่วยกลั่นกรองกับคณะกรรมการฯ ทุกระดับ ว่าโครงการที่สตรีเสนอขอกู้มามีโอกาสสำเร็จอย่างไร ต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน เมื่อให้กู้แล้วต้องมีการติดตาม คอยเป็นพี่เลี้ยง หรือเพื่อนคู่คิด ไปดูไปช่วยให้แต่ละโครงการมีแนวทางพึ่งพาตนเองได้ และที่สำคัญคือมีกำไรมาใช้จ่ายและส่งคืนกองทุนได้ตามกำหนด