.
โดย อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
วันนี้มาชมพระกรุเก่าแก่ของจังหวัดสุโขทัย ที่ได้รับการยกย่องจากวงการนักกสะสมพระกรุว่ามีพุทธลักษณะงดงาม เส้นสายมีความชดช้อย มีความอ่อนไหว ถือว่าเป็นศิลปะสกุลช่างสุโขทัยบริสุทธิ์โดยแท้จริง และเด่นมากเมื่อเทียบกับพระลีลากรุอื่น มาชมพระลีลากรุวัดถ้ำหีบ เนื้อตะกั่วสนิมแดงซึ่งมีน้อยที่สุดและหาชมได้ยากกันครับ
เป็นเรื่องแปลกที่ว่า แม้พระลีลา กรุถ้ำหีบนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่สุโขทัย แต่จะหาชมได้ยากยิ่งในพื้นถิ่น ตอนที่แตกกรุมาใหม่ๆ ไม่แพร่หลายในจังหวัดสุโขทัย จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า หลังจากขุดพบแล้วน่าจะหลุดไปยังนักสะสมนอกจังหวัดเป็นส่วนใหญ่
ในด้านของพุทธคุณเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเลิศในด้านการงาน เพราะทั้งชื่อของลีลา ก้าวย่างไปข้างหน้า อีกทั้งเรื่องเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ครบเครื่อง ทำให้ ในอดีตนั้น พระลีลา วัดถ้ำหีบ ได้รับความนิยมจากนักสะสมพระเครื่องบูชาขึ้นคอมาตลอด แต่พอมาห้วงปัจจุบัน กลับกลายเป็นของสะสมเท่านั้นอาจเป็นเพราะขนาดขององค์พระซึ่งใหญ่พอสมควรนั่นเอง
พระลีลา วัดถ้ำหีบ ที่พบมีทั้งหมด 3 พิมพ์คือพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์ข้างเม็ด ส่วนเนื้อที่พบกันมาก คือเนื้อดินและเนื้อชิน และเนื้อตะกั่วสนิมแดงซึ่งมีน้อยที่สุด หาชมได้ยาก ทางด้านเนื้อหาของเนื้อดินจะมีทั้งหยาบและละเอียด ที่มีการล่องชาดและปิดทองมาแต่ในกรุก็มี ,เนื้อชินก็มีจำนวนน้อยมาก ยิ่งเนื้อตะกั่วสนิมแดงแบบองค์นี้ไม่เคยผ่านตามาก่อน เพิ่งมาพบเห็นองค์นี้แหละครับ
ด้านหน้าองค์ไล่ส่องดูจะเห็นไขที่คลุมองค์พระอยู่ อันเป็นลักษณะของสนิมไขที่คลุมเนื้อตะกั่วสนิมแดง ซึ่งปรากฏทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ลักษณะของสนิมไขเช่นนี้แหละครับ ที่อยากให้ส่องและเข้าใจ เป็นสนิมไขธรรมชาติ เกิดขึ้นเพราะปฏิกิริยาของความร้อนสะสมมาเป็นเวลานานในกรุที่บรรจุ
พระลีลากรุวัดถ้ำหีบ ทั้งหมดที่ค้นพบมักมีสภาพที่สมบูรณ์แทบทุกองค์ แทบไม่เห็นพระชำรุดเลย อาจเนื่องเพราะกรุที่บรรจุมีความมิดชิดและแข็งแรง องค์พระที่บรรจุอยู่จึงไม่ได้รับผลกระทบเลย
วัดถ้ำหีบ เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และการค้นพบในภายหลัง สภาพวัดก็ทรุดโทรมมากไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมเลย จึงเหลือเพียงสภาพปรักหักพัง ไม่หลงเหลือร่องรอยแห่งความยิ่งใหญ่ครั้งอดีตไว้เลย
การค้นพบพระลีลาถ้ำหีบนั้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2492 จากชาวบ้านที่ขึ้นไปค้นพบไหเคลือบภายในถ้ำบริเวณวัดร้างบนเขากิ่วอ้ายมา เมื่อเปิดออกดูจึงพบพระปางลีลา มีทั้งเนื้อดินเผา เนื้อชิน เนื้อตะกั่วสนิมแดง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพระลีลาทั่วไป
พระลีลาถ้ำหีบเป็นพระพิมพ์แบบครึ่งซีก ความสูงประมาณ 8 ซ.ม. และกว้างประมาณ 2.5 ซ.ม.พิมพ์ทรงเป็นรูปยาวรี ยอดแหลม เส้นกรอบดูมีสองชั้น องค์พระตัดตามขอบ พุทธลักษณะองค์พระประทับยืน แสดงปางลีลา อยู่บนฐานเขียงชั้นเดียว อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะยุคสุโขทัย
พระเกศเฉียงไปด้านซ้ายขององค์พระ เป็นแบบเกศปลี อยู่บนมุ่นเมาลีอีกชั้นหนึ่ง พระพักตร์เป็นรูปไข่ลักษณะยาวรีแบบ หน้านาง ตามแบบศิลปะสมัยสุโขทัย พระเนตรลักษณะยาวรี พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์พริ้ม ลักษณะใกล้เคียงกับปากมนุษย์ พระกรรณยาวลงมาจรดพระอังสา พระกรข้างขวาทอดลงตามลำพระองค์ ส่วนพระกรข้างซ้ายยกขึ้นและผายฝ่าพระหัตถ์ออก แสดงปางห้ามพระไม้แก่นจันทน์ได้อย่างอ่อนช้อยงดงาม
ลักษณะการก้าวย่างนั้น พระบาทข้างซ้ายทรงอยู่ ส่วนพระบาทข้างขวายกขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงพระอิริยาบถว่ากำลังเสด็จพระราชดำเนิน มีลักษณะเป็นพระลีลาก้าวย่างไปข้างหน้าทางด้านซ้าย ปรากฏลายเส้นแสดงให้เห็นเป็นพระสังฆาฏิต่อลงมาจากพระกรข้างซ้ายขนานลงมาตามลำพระองค์ลากยาวลงเป็นชายจีวร เห็นรอยชายสบงและชายจีวรด้านล่างเป็นมิติคมชัด นอกจากการค้นพบที่วัดถ้ำหีบแล้ว ยังพบที่กรุวัดเขาพระบาทน้อย วัดเขาพระบาทใหญ่ วัดเขาสะพานหิน และกรุเจดีย์งาม แต่ทั้งหมดทุกกรุความงดงามก็ยังสู้กรุวัดถ้ำหีบไม่ได้เลย