THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

18 พฤศจิกายน 2562 : 17:34 น.

กสศ.เฟ้นหาสถานศึกษาร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 2 เน้นแผนผลิตคนป้อนสถานประกอบการโดยตรงการันตีเรียนจบมีงานทำทันที

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมชี้แจงโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โดยมี สถานศึกษาสายอาชีพจากทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมรับฟังแนวทางของโครงการทุนนวัตกรรมฯกว่า 400 คน จาก 250 กว่าสถานศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมส่วนร่วม นวัตกรรม และทุนการศึกษา กสศ. เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 18 พ.ย. – 9 ธ.ค.2562 กสศ.เปิดรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ จากสถานศึกษาสายอาชีพที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง/อนุปริญญาทุกสังกัด เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2563

ทั้งนี้ เป็นทุนพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อสายอาชีพ ในสาขาวิชาที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ประเทศไทย 4.0 ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) รวมถึงสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิตอล และสาขาที่ขาดแคลนด้านสายอาชีพ ในท้องถิ่นหรือจังหวัด

น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่าการพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาสายอาชีพเข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจะมุ่งเน้น 6 เกณฑ์คุณภาพ ได้แก่ 1.ด้านความพร้อมความเชื่อมั่นในคุณภาพสาขาหลักสูตร โอกาสการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนในลักษณะ Matching Fund ผลการผลิตนักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานเป็นที่ยอมรับและพึงพอใจของสถานประกอบการและชุมชนท้องถิ่น 2.การจัดแนะแนวและประชาสัมพันธ์เชิงรุกเกี่ยวกับทุนการศึกษาให้กับสถานศึกษาที่มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษากลุ่มยากจนหรือด้อยโอกาสหนาแน่น

3.วิธีการค้นหาและคัดเลือกนักเรียนเข้ารับทุนยึดหลักการมีส่วนร่วมโปร่งใสและเป็นธรรม 4.ระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของผู้รับทุนให้สามารถเรียนจบตามกำหนดเวลา 5.การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูงตามสาขาวิชา นำไปสู่สมรรถนะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Skills) และ 6. การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา เช่น การทำความร่วมมือกับภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ให้แก่นักศึกษารับทุนจำนวน 2,113 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพทุกสังกัดจำนวน 36 แห่ง สามารถเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือ กสศ.สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ครอบครัวรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 แรกของประเทศ ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อสายอาชีพ โดยไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา ขณะเดียวกันยังเกิดความร่วมมือระหว่างกสศ.กับเครือข่ายสถานศึกษาในลักษณะพันธมิตรยกระดับคุณภาพหลักสูตรการเรียนการสอน และความร่วมมือกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมากกว่า 50 แห่ง

ด้าน ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. และผู้บุกเบิกทุนการศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกตั้งแต่ปี 2541 กล่าวว่า เกณฑ์การคัดเลือกสถานศึกษาในปี 2563 ให้ความสำคัญกับแผนการเพิ่มโอกาสการมีงานทำเป็นหลัก ถ้าสถานศึกษาใดมีโครงการความร่วมมือผลิตบุคลากรให้กับสถานประกอบการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม หรือมีข้อตกลงการพัฒนานักศึกษาให้กับสถานประกอบการโดยตรง มีการประกันการมีงานทำทันทีเมื่อเรียนจบ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

"มั่นใจได้ว่านักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เมื่อจบการศึกษาจะมีงานทำตรงความต้องการตลาดแรงงานแน่นอน รวมไปถึงการผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย สถานศึกษาสายอาชีพที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง/อนุปริญญาที่สนใจ สามารถยื่นข้อเสนอโครงการ ผ่านระบบรับสมัคร Online ระหว่างวันที่ 18 พ.ย. – 9 ธ.ค. 2562 ทางเว็บไซต์ กสศ. www.EEF.or.th เท่านั้น หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-0795475 ต่อ 2 " ดร.นักสิทธิ์กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ