รองโฆษกอัยการชี้แจงแนวทางการพิจารณาการล่อซื้อ กับการล่อให้กระทำความผิด พร้อมส่งหนังสือเวียนคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อให้พนักงานอัยการระมัดระวังในการสั่งคดี เตือนอย่าใช้กฎหมายรังแกกัน
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงข้อกฎหมายเรื่องการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ จากกรณีมีผู้อ้างเป็นตัวแทนจับการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนหมีดังที่ล่อซื้อจากเด็กหญิง อายุ 15 ปีให้ทำกระทงแล้วเรียกค่าเสียหายว่า เมื่อปี 2557 สำนักงานอัยการสูงสุด เคยมีหนังสือเวียน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.57 เรื่องแนวทางการพิจารณาการล่อซื้อ กับการล่อให้กระทำความผิด ซึ่งหนังสือเวียนดังกล่าวจะมีคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อให้พนักงานอัยการระมัดระวังในการสั่งคดี
ทั้งนี้ โดยแนวคำพิพากษาศาลฎีกาบอกไว้ชัดเจนแล้วว่า การล่อให้กระทำความผิด เท่ากับเป็นผู้ก่อให้เขากระทำความผิดจึงไม่เป็นผู้เสียหาย ตามกฎหมายที่จะดำเนินคดีได้ การล่อให้เขากระทำความผิดไม่ใช่การล่อซื้อ เช่น ถ้ากรณีปกติไม่ได้มีการผลิตขึ้นจำหน่าย แต่ไปสั่งให้เขาทำแล้วก็เอาตำรวจไปจับ อย่างนี้ถือเป็นการล่อให้กระทำความผิด แต่ถ้ามีการผลิตจำหน่ายอยู่ก่อนแล้วไปติดต่อขอซื้อ ถือเป็นการล่อซื้อ เมื่อศาลเคยตัดสินแล้วว่า คดีเช่นนี้ไม่เป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่อมา คือการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามการชี้ให้จับของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้เสียหาย (อ้างเป็นผู้แทนบริษัทที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์) จนถึงขั้นมีการเรียกร้องค่าเสียหายกัน จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คงต้องมีการดำเนินการสอบสวนโดยละเอียด เพราะมีข่าวออกมาว่า บริษัทของลิขสิทธิ์ ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการมอบอำนาจให้ผู้ใดไปจับ จึงเกิดคำถามได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปจับ ถูกหลอกลวงด้วยหรือไม่ แล้วได้ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจถูกต้องแล้วหรือไม่
"เรื่องนี้น่าจะต้องติดตามดำเนินคดี สอบสวนให้ได้ความจริงโดยละเอียด มีใครผิดบ้างนำมาลงโทษ ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรม ไม่ใช้กฎหมายมาอ้างข่มเหงรังแกกัน อย่างไรก็ดีในส่วนของคดีลิขสิทธิ์นั้นหากคดีไม่มาถึงอัยการ ตกลงจบกันที่สถานีตำรวจ อัยการก็คงสั่งไม่ฟ้องให้ไม่ได้" นายโกศลวัฒน์กล่าว