กรมการแพทย์ เตือนผู้ที่มีภาวะไขมันส่วนเกินสะสมมากกว่าปกติ หรือโรคอ้วนลงพุง ทำให้ระบบหายใจทำงานติดขัด ก่อให้เกิดโรคหอบหืดตามมา
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การรับประทานอาหารเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะที่มีไขมันสะสมมากผิดปกติหรือมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกไป ส่งผลให้พุงยื่นออกมาอย่างชัดเจน เรียกว่า โรคอ้วนลงพุง ซึ่งผลแทรกซ้อนของโรคดังกล่าว อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา คือ เสี่ยงกับภาวะไขมันอุดตันหลอดเลือดและหัวใจ อาทิ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง ไตวาย มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว
อีกทั้งไขมันส่วนเกินนั้นยังสามารถเข้าไปสะสมในปอดจนเบียดทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมตีบลง เกิดอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบากซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหอบหืดได้ทั้งนี้ผู้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงโรคอ้วนลงพุงจะมีลักษณะต่างๆ อย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้ คือ 1. ภาวะอ้วนลงพุง 2. ความดันโลหิตสูง 130/85 มม.ปรอทขึ้นไป 3. น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่า 100 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตรขึ้นไป
4. ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 5. มีไขมันดี ชนิด HDL ต่ำ โดยเพศชายน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และเพศหญิงน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากพบว่าร่างกายมีลักษณะดังกล่าว ต้องรีบหาแนวทางการรักษาและป้องกันโรคอ้วนลงพุง เพื่อห่างไกลโรคร้ายแทรกซ้อนที่จะตามมาอย่างทันท่วงที
นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคอ้วนลงพุง เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม ทำให้มีอาการโรคหอบหืดตามมา อาการในผู้ป่วยโรคหอบหืดมักจะเหนื่อยหอบเวลาออกแรง ไอ เสมหะเหนียวข้น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และมีเสียงดังวี๊ดๆ หรือมีอาการในช่วงกลางคืน และมีค่าความเร็วของลมหายใจออกสูงสุดอยู่ระหว่าง 50 – 80 % ของค่าที่ดีที่สุด
ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตนด้วยการคุมอาหารและลดน้ำหนักในรายที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด มัน กะทิ ดื่มน้ำเปล่าหลีกเลี่ยงน้ำหวานและน้ำอัดลม หากสามารถปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่างๆเหล่านี้ ได้อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ จะทำให้หลีกหนีโรคอ้วนลงพุง ส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลโรคร้ายที่แทรกซ้อนตามมาอีกด้วย