กสศ.ชวนโรงเรียนทั่วประเทศ แนะแนวนร.ยากจนด้อยโอกาสแต่เรียนดีที่กำลังศึกษาชั้น ม.3 / ม.6 หรือเทียบเท่า เตรียมสมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น 2 ในช่วงเดือนธ.ค.
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวที “ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง"โดยมี นักศึกษาทุนรุ่นที่ 1 พร้อมด้วยครูอาจารย์เข้าร่วมกว่า 300 คน ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกา (กสศ.) กล่าวว่า ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา กสศ.ลงพื้นที่ 11 เส้นทางทั่วประเทศเพื่อปฐมนิเทศนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 ทั้งหมด 2,113 คน และอาจารย์อีกกว่า 250 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพ 36 แห่งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันวิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงค
ทั้งนี้ มีการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษาทุนฯ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของ ผู้บริหาร ครูอาจารย์ รุ่นพี่นักศึกษาสายอาชีพ รวมถึงเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งเรื่องทักษะชีวิต การวางแผนชีวิตให้นักศึกษาทุนรู้คุณค่าและการวางแผนการใช้-จ่ายเงิน ตลอดจนทักษะอาชีพ จากประสบการณ์จริงของนายจ้าง เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจมุ่งมั่นในการเรียน และพัฒนาให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือการจัดการศึกษาสายอาชีพชั้นสูง
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ในเทอมที่ผ่านมาเราได้เห็นความก้าวหน้าของระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพนักศึกษาทุน โดยมีครู อาจารย์ที่เปรียบเสมือนโค้ชชีวิตให้คำปรึกษาแนะนำด้านสภาพจิตใจ เพื่อดูแลการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่น โดยกสศ.ยังร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาทุนอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าของหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาสายอาชีพ โดยเฉพาะความร่วมมือกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในรูปแบบทวิภาคี เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรีทำความร่วมมือกับ บริษัทแอลแอลไอที(ประเทศไทย)จำกัด (หลิงหลง)ในรูปแบบการเรียนระบบทวิภาคีแบบทวิวุฒิ คือเรียนในประเทศไทย 1 ปี และไปเรียนในสาธารณรัฐประชาชนจีน1 ปี 6 เดือน จบแล้วได้วุฒิ 2 ประเทศสามารถเรียนต่อและทำงานได้ทั้งไทยและจีน
นอกจากนั้น ยังร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวะทางรถไฟหลิ่วโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อฝึกทักษะอาชีพจากประสบการณ์จริง วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ นำนักศึกษาทุนที่ได้รับการคัดเลือกไปฝึกประสบการณ์การทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 1 ปีแบบทวิภาคี โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ร่วมกับบริษัท เบทาโกร บริษัทน้ำตาลมิตรผล บริษัท ดัชมิลล์ ร่วมพัฒนาหลักสูตรและเป็นสถานที่ในการฝึกอาชีพ เป็นต้น
“กสศ.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของนักศึกษาทุน ในเทอมที่ผ่านมามีภาคธุรกิจเอกชนมากกว่า 50 แห่งร่วมโครงการทวิภาคี และความร่วมมือระหว่างประเทศในการคัดเลือกนักศึกษาทุนไปดูงานและฝึกงาน เช่น ญี่ปุ่น จีน เดนมาร์ก และมาเลเซีย” ผู้จัดการ กสศ.กล่าว
ดร.พีระพล พูลทวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า ฝากถึงนักศึกษาที่ได้รับทุนวัตกรรม เมื่อได้รับโอกาสเราจะต้องเอาใจใส่ต่อสิ่งที่ได้รับ อาจารย์จะต้องดูแลลูกศิษย์ ผู้อำนวยการต้องเป็นผู้กำกับ ขณะนี้มีกระแสว่าจะมีคนตกงานอีก 400,000 คน ดังนั้นนักศึกษาต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ร่วมบูรณาการระหว่าง ศธ.กสศ.และผู้ประกอบการภาคเอกชน จะเป็นแสงสว่างที่ดีต่อสายอาชีวะ การได้ศึกษางานในสถานประกอบการ ได้เรียนรู้งานนอกห้องเรียน เป็นโอกาสช่วยให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น
ด้าน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีส่งผลต่อชีวิตคนและธุรกิจ ดังนั้นเราไม่สามารถเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างเดียว ทุกคนต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม ถ้าตั้งหลักได้ตั้งแต่วันนี้ อีก 60 ปี ข้างหน้าจะสบาย นักศึกษาทุนที่ได้รับโอกาส ต้องปรับตัวให้พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ล่าสุดกสศ.กำลังจะประกาศเปิดรับโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ประมาณเดือนพ.ย.จะเปิดรับสมัครสถานศึกษาสายอาชีพ โดยภายในเดือนธ.ค.กสศ.จะประกาศรายชื่อสถานศึกษาสายอาชีพที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว
น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า ระหว่างนี้กสศ.จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนให้ช่วยแนะแนวและเตรียมความพร้อม ให้กับนักเรียนยากจนด้อยโอกาส มีรายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือนต่อคนต่อเดือนไม่เกิน 3,000 บาท ที่กำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า และนักเรียนที่กำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/ปวช.3 หรือเทียบเท่า โดยเป็นนักเรียนที่มีศักยภาพในการศึกษาต่อจนจบการศึกษา มีผลการเรียนสะสมดี หรือมีความสามารถพิเศษทางทักษะฝีมือ นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์โดยสามารถติดตามการประกาศรายชื่อสถานศึกษาสายอาชีพและสาขาวิชาที่เปิดรับในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ทาง www.eef.or.th
สำหรับ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกสศ. แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทุน 2 ปี ปวส./อนุปริญญา และทุน 5 ปีปวช.ต่อเนื่อง ปวส.โดยนักศึกษาทุนจะได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือน พร้อมกับกิจกรรมเสริมคุณภาพจนสำเร็จการศึกษา นักเรียนที่ได้รับทุนจาก กสศ. ปีหนึ่งราว 2,000 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 % ของนักเรียนที่มีฐานะยากลำบาก นับว่า เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้นหากภาคธุรกิจเอกชนสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเติมเต็มทุนสร้างโอกาสนี้ สามารถร่วมเป็นเครือข่ายร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาโดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 0795475ในวันและเวลาราชการ” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว