.
โดย อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
วัดท้ายตลาด เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใต้พระราชวังเดิม ปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ
พระเครื่องวัดท้ายตลาดเป็นพระเนื้อผงผสมผงใบลาน สีของพระเครื่องส่วนใหญ่จึงเป็นสีเทาเข้ม จนถึงเกือบดำตามส่วนผสมของใบลาน พระของกรุนี้มีเนื้อหามวลสารคล้ายพระสมเด็จปิลันท์ วัดระฆังฯ มีคราบไขคล้ายกันมาก มาชมพระกรุวัดท้ายตลาด พิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร ซึ่งสวยสมบูรณ์เพื่อเป็นแนวทางศึกษาครับ
จุดพิจารณาของพระกรุวัดท้ายตลาดนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ดูจากไขคราบกรุ ซึ่งจะมีสีออกเหลืองคล้ายไขวัวเคลือบที่องค์พระ และความเก่าแห้งของเนื้อผงใบลาน
ท่านอาจารย์ตรียัมปวายได้บันทึกไว้ว่า พระวัดท้ายตลาดนี้สร้างโดยพระวิเชียรมุนีอดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน ท่านเจ้าคุณสนิท พร้อมกับหลวงพ่อแย้ม และหลวงพ่อกลิ่น พระอาจารย์สายกัมมัฏฐานของพระอารามนี้ สันนิษฐานว่า สร้างบรรจุไว้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ.2431 ล่วงอายุถึงปัจจุบันได้ 130 ปี มาแล้ว
การแตกกรุของวัดท้ายตลาดนั้น เริ่มจากคนร้ายลักลอบเจาะกรุเจดีย์รายมานานแล้ว และทางวัดก็ได้ซ่อมแซมอยู่เสมอ ครั้นต่อมาใน พ.ศ. 2485 คราวกรณีพิพาทอินโดจีนกับประเทศฝรั่งเศส ทางกระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือขอพระเครื่องมาที่ทางวัดโมลีโลกยาราม เพื่อมอบเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร และตำรวจที่ไปร่วมรบ
พระประสิทธิ์ศีลคุณ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น จึงได้ให้ขุดกรุพระเจดีย์รายในวัด และได้พระเครื่องออกมาจำนวนมาก ทั้งได้พบพระเครื่องอีกส่วนหนึ่งซึ่งบรรจุไว้ในปีบบนเพดานพระอุโบสถและเพดานหอสมเด็จฯ จึงได้มอบให้แก่ทางกระทรวงกลาโหมไปส่วนหนึ่ง
พระกรุวัดท้ายตลาดที่พบเป็นพระเนื้อผงใบลาน พิมพ์ต่างๆ แต่ละพิมพ์ล้วนสวยงามด้วยศิลปะทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังได้พบพระแบบเดียวกันที่วัดนางชี คลองบางหลวง และที่วัดหงษ์ฯ บางกอกใหญ่อีกด้วย สันนิษฐานว่า "พระวัดท้ายตลาด"นั้นคงจะมีการบรรจุไว้ตามกรุต่างๆ หลายวัดด้วยกัน
มวลสารพระกรุวัดท้ายตลาดเป็นพระเนื้อผงผสมผงใบลาน สีของพระเครื่องจึงเป็นสีเทาเข้มเกือบดำ และมีเม็ดผงพุทธคุณสีขาวแทรกอยู่ในเนื้อกระจายกันอยู่ในทุกองค์ ผิวของพระแทบทุกองค์มีคราบกรุและไขขาวจับอยู่ไม่มากก็น้อย ที่ด้านหลังส่วนมากจะมีรอยประทับ เป็นอักขระกดลึกลงไปในเนื้อพระ ด้านพุทธคุณนั้นเด่นในทางเมตตา มีโชคลาภ และแคล้วคลาด
มีการสันนิษฐานกันว่า ช่างผู้ออกแบบแม่พิมพ์พระเครื่องคงจะเป็นช่างหลวง เพราะแต่ละพิมพ์มีความงดงาม และมีมากพิมพ์ วงการพระเครื่องกล่าวกันว่ามีมากกว่า 50 พิมพ์ ประมาณว่า ที่แตกกรุออกมาก็พบว่ามีไม่น้อยกว่า 48,000 องค์ พิมพ์ที่นิยมและเป็นที่รู้จักได้พบเห็นบ่อย อาทิเช่น1.พระวัดท้ายตลาด พิมพ์พระปิดตาขัดสมาธิเพชร2.พระพิมพ์แม่พระธรณีเป็นมวยผม สี่เหลี่ยมใหญ่3.พระพิมพ์แม่พระธรณีเป็นมวยผม ห้าเหลี่ยม4.พระพิมพ์นางกวัก สี่เหลี่ยม5.พระพิมพ์พุทธนางกวัก6.พระพิมพ์ป่าเลไลย์ใหญ่7.พระพิมพ์ป่าเลไลย์เล็ก8.พระพิมพ์นาคปรกเต็มองค์9.พระพิมพ์ครึ่งองค์10.พระพิมพ์สังกัจจายน์11.พระพิมพ์ซุ้มปราสาท12.พระพิมพ์สมาธิแหวกม่าน13.พระพิมพ์เล็บมือ14.พระพิมพ์ยืนอุ้มบาตร15.พระพิมพ์ยืนห้ามสมุทร16.พระพิมพ์ยืนถวายเนตร17.พระพิมพ์ยืนรำพึง18.พระพิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร19.พระพิมพ์พระเจดีย์20.พระพิมพ์มารวิชัย ข้างเส้น21.พระพิมพ์มารวิชัย ข้างเม็ด22.พระพิมพ์สมาธิเล็ก23.พระพิมพ์สมาธิข้างกนก24.พระพิมพ์หยดแป้ง25.พระพิมพ์สมาธิบัวสองชั้น26.พระพิมพ์ปางไสยาสน์ เป็นต้น
วัดท้ายตลาด เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใต้พระราชวังเดิม ปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีวัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระจำพรรษา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาศรี วัดราชสิทธิ์ เป็นพระเทพโมลี แล้วให้มาครองวัดนี้
ต่อมาจึงได้เลื่อนเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ต่อมาในรัชกาลที่ 2 ทรงเปลี่ยนนามพระอารามเป็น วัดพุทไธศวรรยาวาส ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอาราม พร้อมกับพระอารามอื่นๆ อีก และทรงเปลี่ยนนามเป็นวัดโมลีโลกยาราม มาจนปัจจุบัน
พระเครื่องกรุวัดท้ายตลาดเป็นที่ต้องการของนักสะสมในวงการพระเครื่อง มีราคาไม่แพงมากนัก ประสบการณ์สูงนักสะสมนิยม พระกรุวัดท้ายตลาด ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ 1.เชื่อมั่นว่าผู้สร้างพระเครื่องชุดนี้เจตนาในการสร้างดี จึงสร้างบรรจุลงกรุใต้ฐานเจดีย์ราย เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาเท่านั้น
2.สันนิษฐานว่าพระกรุวัดท้ายตลาดออกแบบโดยช่างหลวง พิมพ์และรูปแบบรายละเอียดจึงสวยงามทุกพิมพ์ 3.เกจิอาจารย์ในวงการพระเครื่องต่างเห็นพ้องกันว่ามวลสารหลัก คือ มีผงใบลานกับผงพุทธคุณเก่าแก่มากมาย โดยจะเห็นชัดจากองค์พระที่แตกหักชำรุด 4.เนื่องจากวัดท้ายตลาดเป็นพระอารามหลวง เมื่อมีการจัดสร้างพระเครื่อง การจัดพิธีพุทธาภิเษกก่อนบรรจุพระเครื่องลงกรุ แน่นอนว่าจะต้องยิ่งใหญ่อลังการ และครบถ้วนตามโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมา