อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริสู่ความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.)กระทรวงมหาดไทย ร่วมงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริสู่ความยั่งยืน “โครงการทางสังคม เพื่อการบริหารจัดการน้ำ สู่การพัฒนาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเปิดงาน นายจาตุรงค์ สุขะเสน รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวต้อนรับ และ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) สำนักงานใหญ่ ถนนงามวงศ์วาน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวถึง รัชกาลที่ 9 ได้มีรับสั่งให้เก็บน้ำ โดยภาชนะธรรมชาติ (ห้วย หนอง คลอง บึง) แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ดำเนินการโดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคเอกชน ภาครัฐ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างดี ปัญหาทุกวันนี้อยู่ที่จะขยายผลการดำเนินงานอย่างไร การทำงานจะประสานงานกันอย่างไร หากเราเดินไปพร้อมกันก็จะเกิดพลัง และทำให้เกิดความยั่งยืน แม้ว่าปัจจุบันจะมีความหลาย (Diversity) แต่ถ้าความหลากหลาย เราเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ก็จะเกิดความยั่งยืน การทรงงาน "ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำบทเรียนในอดีต มองไปข้างหน้าเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม"
ดร.สุเมธ กล่าวว่า มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ภายใต้แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการดำเนินงานบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และประชาชน โดยมีแผนดำเนินการ 3 ด้าน ดังนี้ 1.บริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเอง เรียนรู้และสามารถบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริได้ด้วยตนเอง
2.บริหารทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และเศรษฐกิจชุมชนบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และทำเกษตร ตามแนวพระราชดำริ และ3.เครือข่ายขยายผลสู่ความยั่งยืน ขยายผลต้นแบบความสำเร็จ มีศักยภาพสู่ความยั่งยืน โดยขับเคลื่อนงานผ่านแกนนำ 60 ชุมชน เครือข่าย 1,573 หมู่บ้าน และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ 19 แห่ง พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนต่อไป